'คันเร่งค้าง' เกิดจากอะไร-ป้องกันอย่างไร?

'คันเร่งค้าง' เกิดจากอะไร-ป้องกันอย่างไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หากใครติดตามข่าวสารคงทราบถึงเหตุการณ์ 'รถตกตึก' จากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าย่านบางกะปิจนเป็นเหตุให้คนขับเสียชีวิตเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งสร้างความระทึกขวัญให้กับเจ้าของรถอย่างเราๆท่านๆอยู่ไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิดบ้างหรือไม่


     แม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด ถึงสาเหตุของเรื่องน่าสลดดังกล่าว แต่การมีสติและรู้เทคนิคเบื้องต้นในการควบคุมรถ ก็อาจทำให้ผู้ขับสามารถเอาตัวรอดได้หากตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ลองไปดูคำแนะนำจาก Sanook!Auto ว่าจะรับมือกับกรณีเช่นนี้อย่างไร

     ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การที่รถสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วนั้น แสดงว่าเกียร์จะต้องอยู่ในตำแหน่ง D (หรือตำแหน่งเดินหน้าอื่นๆ เช่น 3,2 หรือ L) ประกอบกับการเร่งเครื่อง ไม่ว่าผู้ขับจะเป็นฝ่ายเหยียบคันเร่งเอง หรือ เกิดจากความผิดปกติของแป้นคันเร่งหรือเครื่องยนต์ก็ตาม (ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากๆ) ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการขับรถแบบปกตินั่นเอง

 

     วิธีแก้ไขทำอย่างไร?

     แน่นอนครับ ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือมาก่อนนั้น 'สติ' ต้องมาเป็นอันดับแรก มีความเป็นไปได้ว่าผู้ขับรถ อาจเผลอเหยียบคันเร่งโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเบรค เมื่อรถพุ่งไปข้างหน้าก็เกิดอารามตกใจเผลอเหยียบคันเร่งเพิ่มเข้าไปอีก (เพราะนึกว่ากำลังเหยียบเบรคอยู่) ซึ่งทางแก้ก็ง่ายนิดเดียว เพียงมี 'สติ' ให้มั่น แล้วจึงถอนคันเร่งเสีย จากนั้นก็แตะเบรคเพื่อให้รถหยุด เท่านั้นก็จบครับ

     ซึ่งหากสาเหตุมาจากกรณีนี้จริงๆ ก็ควรฝึกฝนการขับรถให้ชำนาญเสียก่อน หรืออาจพาใครที่ขับรถเป็น นั่งโดยสารไปด้วยอยู่จนกว่าจะชำนาญ เผื่อว่าเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถช่วยเหลือกันได้

 

     แต่!!!

     ถ้าหากเป็นความผิดปกติจากแป้นคันเร่งหรือระบบเครื่องยนต์จริงๆนั้น ก็พอมีทางแก้ไขสถานการณ์ได้เหมือนกัน โดยหากตัวรถพุ่งไปข้างหน้าทั้งๆที่ไม่ได้แตะคันเร่ง ก็ใช้วิธีตัดระบบส่งกำลังแบบง่ายๆ ด้วยการผลักคันเกียร์ไปตำแหน่ง 'N' หรือ เกียร์ว่างเท่านั้นเอง ซึ่งวิธีนี้จะเครื่องยนต์จะถูกตัดกำลังไม่ให้เคลื่อนที่ต่อไปอีก แม้ว่ารอบเครื่องยนต์จะดีดขึ้นไปสูงแค่ไหนก็ตาม จากนั้นก็ให้เหยียบเบรคเพื่อหยุดรถได้ทันที

     ซึ่งหากสาเหตุมาจากอย่างหลังจริงๆแล้วล่ะก็ ควรรีบดับเครื่องยนต์หลังจากรถหยุดนิ่งโดยทันที และไม่ควรขับต่อไปอีก ทางที่ดีควรเรียกรถยกเพื่อนำเข้าศูนย์บริการไปเลยจะดีที่สุด

 

     ทางที่ดีไม่ว่าจะเกิดกรณีฉุกเฉินใดๆก็ตาม การมีความรู้ความเข้าใจในการทำงานของรถยนต์ ประกอบกับการประคับประคองสติให้ดีนั้น จะช่วยให้รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างดีที่สุดครับ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook