ไขคดี "รถหาย" ต้องผ่อนต่อหรือไม่

ไขคดี "รถหาย" ต้องผ่อนต่อหรือไม่

ไขคดี "รถหาย" ต้องผ่อนต่อหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน สองสามงวดก่อนนี้ยังค้างชำระอยู่เลย ปรากฏว่า รถหาย!

     เมื่อรถหายคุณโผงก็งดส่งค่าเช่าซื้อสิ

     บริษัทที่ให้เช่าซื้อทวงถาม แต่คุณโผงก็หานำพาไม่

     เช่นเดียวกับคุณผางผู้ค้ำประกันที่ถูกทวงด้วย สรุปว่าทั้งสองไม่จ่าย

     เมื่อทวงแล้วไม่ได้รับชำระ บริษัทผู้ให้เช่าซื้อเลยฟ้องคดี ขอให้ศาลบังคับคุณโผงกับคุณผางใช้เงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจำนวน 102,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

     คุณ โผงให้การว่า รถคันที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักหายไป สัญญาเช่าซื้อจึงระงับสิ้นลง แม้สัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงระบุไว้ให้ผู้เช่าซื้อยังต้องชำระค่าเช่าซื้อ ต่อไปจนครบในกรณีรถที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อความสงบ เรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีผลบังคับจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่า เช่าซื้อภายหลังจากสัญญาเช่าซื้อระงับลงคงต้องรับผิดเฉพาะค่าเช่าซื้อที่ ค้างชำระก่อนสัญญาระงับซึ่งเป็นเงิน 5,200 บาท ไม่ใช่ 102,800 บาท ขอให้ยกฟ้อง

     คุณผางผู้ค้ำประกันให้การทำนองเดียวกันว่าเมื่อรถ คันที่เช่าซื้อถูกลักไป สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน บริษัทมีสิทธิเพียงเรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือค่าขาดประโยชน์ใน ระหว่างที่คุณโผงยังไม่ได้คืนรถที่เช่าซื้อเท่านั้นหาจำต้องชำระค่าเช่าซื้อ จนครบไม่คุณผางในฐานะผู้ค้ำประกันก็หาต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อจนครบด้วย ไม่ขอให้ยกฟ้อง

     ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง

     บริษัทอุทธรณ์

     ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 102,800 บาท แก่บริษัท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ


     ทั้งสองฎีกา

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567


     นอกจากนี้ ตามหนังสือบอกกล่าวของบริษัทถึงทั้งสองก็ระบุชัดว่า บริษัทเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อแล้ว จึงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว คุณโผงจึงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไว้อีกต่อไป

     แม้ตาม สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 จะระบุให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าซื้อจนครบในกรณีที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูก โจรภัยก็ตาม แต่เมื่อคุณโผงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไปก็ถือได้ว่าคุณโผงได้ตกลงชำระค่า เสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างให้แก่บริษัทในกรณีนี้ซึ่งมีลักษณะเป็น เบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดหย่อนลงไปหากเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนดไว้นั้นสูง เกินควร

     ในกรณีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนดไว้เท่ากับค่า เช่าซื้อที่ค้างชำระนั้นเป็นจำนวนที่สูงเกินไปเพราะราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ นั้นเป็นการคิดราคารถรวมกับค่าเช่าและการใช้รถต้องมีการเสื่อมราคา จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้ 80,000 บาท

     สำหรับดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ทั้งสองชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ศาลฎีกาก็ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วบริษัทไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาข้อ 7 ซึ่งกำหนดไว้ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหรือไม่ชำระเงินใดๆ ที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญา แต่ทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 224

     พิพากษาให้คุณโผงและคุณผางร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

     (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4601/2533)

     ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์

     มาตรา 567 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย

     มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่น ว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดย เงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราสัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าเป็นโมฆะ

     มาตรา573ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง



     ที่มา คอลัมน์ สัพเพเหระคดี นสพ.มติชนรายวัน
     โอภาส เพ็งเจริญ o-pas@matichon.co.th

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook