ขับปลอดภัยขจัดภัยอุบัติเหตุ

ขับปลอดภัยขจัดภัยอุบัติเหตุ

ขับปลอดภัยขจัดภัยอุบัติเหตุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 "ขับดี มีน้ำใจ ภัยไม่มี" เป็นเพียงคำกล่าวที่หยิบยกขึ้นมารณรงค์ แต่ความรู้ที่ช่วยให้ปลอดภัยอย่างแท้จริงเรายังต้องเสาะหา การขับรถดีอาจไม่สามารถบอกต่อให้คนรุ่นหลังได้ครบถ้วน ทำให้หลายคนมีวิธีการปฏิบัติและมีเนื้อหาแตกต่างกัน บางคนใช้วิธีการบอกด้วยความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจของตน มิได้มีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน สิ่งนี้เองเป็นต้นเหตุของความสูญเสีย

บ่อยครั้งที่มีรายงาน การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เรามักจะได้ยินสาเหตุของการชนกันว่ามาจาก ความประมาท ความมึนเมา มีรถตัดหน้า คันหน้าจอดกะทันหัน ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ เหตุเบื้องต้น  ยังไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ  และยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นไปอีก หากนำวิธีแก้ไขแบบผิดๆ ไปเผยแพร่หรือแนะนำการขับแบบตามๆ กันมา

   เหมือนการฉีดยาพิษให้ผู้ขับรถ  วิธีปฏิบัติผิดๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น  สอนให้เมื่อขับผ่านสี่แยก ถ้าต้องการตรงไปข้างหน้าแล้ว ต้องเปิดไฟฉุกเฉิน ฝนตก เปิดไฟฉุกเฉิน ทุกเทศกาล ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นเรื่องใหญ่ ยังดีปีนี้นายกรัฐมนตรี ออกมาตื่นตัวเป็นคนแรกๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้คนขับรถต้องระวังมากขึ้น  ในสัปดาห์สุดท้ายของปีเรานำเสนอเทคนิคเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และหวังว่าทุกท่านจะปลอดภัยเมื่อต้องขับรถเดินทางไกล

  การเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง (Pre -Trip Preparation)

 ก่อนจะใช้รถ ใกล้ไกลควรจะมีเวลาสำหรับการเตรียมความพร้อม  แม้การเดินทางระยะทางใกล้ๆ การเตรียมรถก็ควรฝึกให้เป็นนิสัย เราควรตรวจสิ่งต่างๆ เช่น ตัวเราเอง

 ร่างกาย ต้องพร้อมพักผ่อนให้เพียงพอ และหากเหนื่อยล้า หรือง่วงนอนระหว่างทาง ควรเปลี่ยนมือ ถ้าไม่มีใครเปลี่ยน ควรพักผ่อน และพยายามอย่ามุ่งมั่นไปที่ปลายทางเพียงอย่างเดียว ควรแวะพักเป็นระยะ  ที่สำคัญ ห้ามดื่มของมึนเมาเด็ดขาด คนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ความเหนื่อยล้าคือกลไกของร่างกายมนุษย์ ยาหรือสารกระตุ้นใดๆ จึงไม่สามารถป้องกันความเหนื่อยล้าได้

 การนอนหลับเท่านั้น ที่จะช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าและอาการหลับในได้ การนอนหลับอย่างเพียงพอหรือประมาณ 7-8 ชั่วโมงจะป้องกันความเหนื่อยล้า อาการหลับในที่เกิดกับผู้ขับขี่รถยนต์มีผลมาจากความเหนื่อยล้า ช่วงระยะเวลาที่ร่างกายล้ามากที่สุด คือ ช่วงตั้งแต่เที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า เพราะร่างกายถูกกำหนดมา

  ก่อนออกรถควรทบทวนความพร้อมของตนเอง เช่น ถามตนเองว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ที่ไหน เพิ่งผ่านที่ไหนมา และกำลังจะไปที่ไหน เหลือระยะทางอีกเท่าไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้แม้เพียงหนึ่งข้อ ก็หมายความว่าร่างกายยังไม่พร้อม การขับต่อไปอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ การนอนหลับพักผ่อนเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าและป้องกันการหลับใน

  การเตรียมรถ อุปกรณ์ประจำรถ จำเป็นต้องมีติดรถไว้ ตรวจดูชุดเครื่องมือ  อุปกรณ์จำพวก สายพ่วง สายลาก ควรติดรถหากไม่มีก็มองหาทีหนีทีไล่เอาไว้ การมีอุปกรณ์เหล่านี้ ในแง่ดี แม้ไม่ได้ใช้เอง ก็สามารถเอาไว้ช่วยเหลือคนอื่นได้  หาไฟสปอตไลท์ที่สามารถต่อใช้งานจากรถไว้หนึ่งดวง หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็หาไฟฉายคุณภาพดีๆ ติดไว้ น้ำมันเชื้อเพลิง มีโอกาสก็ควรจะเติมให้เต็มถัง  โดยเฉพาะเมื่อจะต้องผ่านเส้นทางที่ขาดแคลนสถานีบริการเท่านั้นก็พร้อมจะเดินทาง

 รู้จักการดูแลรักษารถขั้นพื้นฐาน (Basic Vihicle Maintenance)

  ตรวจความพร้อมของระบบไฟและสัญญาณไฟต่างๆ ระดับน้ำมันเครื่อง ระดับน้ำหล่อเย็น ระดับน้ำสำหรับฉีดทำความสะอาดกระจก ระดับสายพานว่าหย่อนหรือไม่ และที่สำคัญคือ สารเหลวที่เกี่ยวข้องกับระบบการขับเคลื่อน เช่น  น้ำมันเบรก น้ำมันเพาเวอร์ น้ำมันเกียร์ และรายการอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมา มีผู้ขับขี่หลายคนที่ไม่เคยทดสอบการทำงานของระบบฉีดน้ำล้างกระจกและการทำงานของใบปัดน้ำฝน

  อีกประการหนึ่ง คือ การตรวจสอบประสิทธิภาพการเบรกก่อนจะเคลื่อนรถทุกครั้ง   นอกจากนี้ให้ดูแลยางเป็นพิเศษ  ยางไม่พร้อม การเดินทางเกิดขึ้นไม่ได้ และหากว่าล้อหมุน ไปแล้ว เกิดยางไม่พร้อมกลางทาง  ต้องแก้ไข  ความเร็วรถระดับร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมงกับ หน้ายางสัมผัสพื้นแค่ฝ่ามือ ไม่มีทางที่จะปลอดภัย สภาพยางต้องไม่มีร่องรอยฉีกขาด บวม หรือดอกยางสึกเกินไป  การวัดลมยาง ต้องให้พอดีกับผู้ผลิตรถแนะนำ และหากไม่รู้ว่าจะมี  น้ำหนักบรรทุกรออยู่ระหว่างทางข้างหน้าหรือไม่ ให้เพิ่มเผื่อไว้ มากกว่าปกติ 2-3 ปอนด์ การสูบลมยางไว้ที่ สเปกบรรทุก ดีกว่า การปล่อยให้รถรับน้ำหนัก โดยไม่เติมลม  ยางแข็งจะปลอดภัยกว่ายางอ่อน เพราะว่ายางอ่อน เวลาวิ่งโครงสร้างยางจะเสียดสีกันเอง ก่อให้เกิดความร้อนและนำมาซึ่งยางระเบิด

 เทคนิคการขับรถเชิงป้องกัน (Defensive Driving Tactics)

 เทคนิคมีหลายประการ เริ่มต้นตั้งแต่ การปรับท่านั่งเก้าอี้ การจับพวงมาลัย การแซง การเบรก แต่เทศกาลเรามักจะต้องขับรถในความมืดของกลางคืน ดังนั้น จึงขอหยิบยกการขับขี่กลางคืนมาเป็นตัวอย่าง  ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเราเองว่า อุบัติเหตุที่เกิดกลางคืนนั้นเกิดเพราะอะไร? หากบอกว่า เกิดเพราะมีสิ่งกีดขวาง หรือ เพราะจอดรถโดยไม่เปิดไฟ หรือเกิดเพราะขับมาด้วยความเร็วสูง สิ่งที่กล่าวมานั้นมีส่วนถูกแต่ไม่ทั้งหมด เพราะว่าไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ แต่เป็นเพียงเหตุเบื้องต้นเท่านั้น ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดในเวลากลางคืน คือ เกิดจากการมองเห็นในระยะกระชั้นชิดมากเกินไป   จนไม่สามารถเบรกหยุดได้ทัน เนื่องจากความเร็วกับระยะการเบรกไม่สัมพันธ์กัน

 ดังนั้น ทุกครั้งที่ต้องขับรถกลางคืน ควรใช้ความเร็วให้สอดคล้องกับระยะไฟส่องสว่างข้างหน้า เช่น "ไฟต่ำ" ของรถนั่งส่วนบุคคลทั่วไปจะส่องสว่างประมาณไม่เกิน 60 เมตร หมายความว่าควรจะใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชั่วโมง เพราะหากเร็วมากกว่านั้นระยะเบรกจะเพิ่มขึ้น สำหรับกรณีที่ต้องการใช้ความเร็วมากกว่านั้น เพราะต้องการถึงจุดหมายปลายทางให้เร็ว แนะนำว่าให้ขับตามรถคันอื่นๆ ที่วิ่งเร็วกว่า หลักการตามรถคันอื่นๆ ควรเลือกขับตามรถที่ลักษณะเหมือนกัน รถเล็กไม่ควรขับตามรถใหญ่เพราะหากมีก้อนหิน หรือสิ่งกีดขวางรถใหญ่จะวิ่งผ่านไปได้ แต่รถเล็กจะไม่สามารถผ่านได้เนื่องจากระดับความสูง ขนาดเส้นรอบวงยางต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อขณะขับไปบนท้องถนนและไม่มีรถคันอื่นๆ  วิ่งสวนทางมาหรือมีรถไม่มากก็สามารถเปิด "ไฟสูง" ซึ่งจะทำให้ระยะการมองเห็นยาวไกลขึ้น

แนวทางปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน

 ประเด็นเรื่องการเตรียมพร้อม ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หากเตรียมพร้อมไว้ได้ก็จะเป็นการดี  เหตุฉุกเฉินเบื้องต้น เราอาจจะต้องการยาในกรณียาสามัญประจำรถ มีติดเอาไว้ก็ไม่เสียหาย ประเภทยาดม ยาทาแก้ปวด  ยาแดง ทิงเจอร์ การได้รับบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ จะได้รับการบรรเทา นอกจากนี้เราควรจะมีเบอร์โทรศัพท์ ประกันภัยสำคัญๆ เช่น หน่วยกู้ภัย ญาติพี่น้อง  ตำรวจทางหลวง (1193) เพื่อแจ้งเหตุ  สอบถามจราจรทางลัด ทางเลี่ยง อุบัติเหตุ กรณีมีความจำเป็นให้นึกถึงขั้นตอนง่ายๆ ถึงรายการที่จะต้องทำเมื่อได้รับอุบัติเหตุ ทั้งหมดคือการเตรียมพร้อมและหากทำได้พร้อมก็ไม่ต้องกังวลอะไรกับการเดินทางช่วงปีใหม่ ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ

นั่งขับและจับพวงมาลัยพื้นฐานขับขี่ปลอดภัย

  ปัจจุบันรถยนต์ได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปในรถมากมาย แต่อุปกรณ์และเทคโนโลยีก็เป็นเพียงเครื่องบรรเทาความรุนแรงจากอุบัติเหตุ หรือไม่ก็ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น "ความปลอดภัย" จะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ขับเองต้องเพิ่มทักษะของตัวเองและมีความรู้
ตำแหน่งการนั่งขับ

 การนั่งขับรถไม่ใช่เพียงเพื่อความสบายในการขับขี่เท่านั้น แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ท่านขับขี่อย่างปลอดภัยด้วย เพราะท่านั่งทำให้คนขับสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างทันที การนั่งที่ถูกต้อง ควรปรับระดับความสูงของเบาะให้สามารถมองเห็นถนนและด้านหน้าของรถ เหนือระดับพวงมาลัยได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน สายตาของผู้ขับ ต้องสามารถมองเห็นอุปกรณ์สำคัญๆ ภายในหน้าปัดของรถได้ด้วย

 การปรับระดับการนั่ง การนั่งที่ดีจะทำให้ลดการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัย ลองคว่ำฝ่ามือ แล้ววางส่วนข้อมือตรงส่วนบนสุดของพวงมาลัย (ตำแหน่ง 12 นาฬิกา) โดยที่ไหล่ของคุณยังคงชิดกับพนักพิง นี่คือการวัดระยะห่างของตัวเราจากพวงมาลัยที่ถูกต้อง ความสมบูรณ์ของการควบคุมพวงมาลัย คือสามารถเลี้ยวรถโดยมือไม่หลุดจากพวงมาลัย หลังติดเบาะ

 การนั่ง ต้องแน่ใจว่าส่วนบนของพนักพิงศีรษะอยู่ในระดับคิ้ว ซึ่งเป็นการปรับพนักพิงศีรษะที่ถูกต้อง จากนั้นลองเหยียบคลัทช์หรือเบรก (กรณีเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ) จนสุด ในขณะที่หลังต้องชิดกับเบาะ และมือของคุณอยู่ที่ ตำแหน่ง 9 และ 15 นาฬิกา ของพวงมาลัยโดยไม่ต้องเอี้ยวตัว แน่ใจได้เลยว่าเป็นตำแหน่งการนั่งในระยะที่ถูกต้อง

 ระยะการวางขา เป็นสิ่งสำคัญ ระยะที่ควรจะเป็นนั้น ให้ใช้หลังพิงพนักในขณะที่กดเท้าซ้ายลงไปเบาๆ บนแป้นเบรก หรือคลัทช์ ลำตัวผู้ขับจะต้องชิดกับพนักพิง ซึ่งตัวพนักพิงจะช่วยให้เกิดความมั่นคง เมื่อกดแป้นคลัทช์หรือเบรกจนสุด เข่าจะต้องอยู่ในลักษณะงอเล็กน้อย เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกรานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

เข็มขัดนิรภัย

 ในการขับขี่รถยนต์ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ เข็มขัดนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเมื่อคุณเบรกอย่างรุนแรง เข็มขัดจะช่วยยึดลำตัวของผู้ขับหรือรัดให้แน่นขึ้น เพื่อให้แผ่นหลังชิดกับพนักพิงโดยไม่หลุดออกไปหน้ารถ เข็มขัดนิรภัย ยังมีส่วนช่วยให้การนั่งขับมีความมั่นคง ส่งผลถึงการควบคุมพวงมาลัยได้อิสระเมื่อรถมีแรงเหวี่ยงโดยไม่ต้องฝืนตัวต้านแรง เพราะเข็มขัดจะรั้งให้ตำแหน่งการนั่งของคุณอยู่บนเก้าอี้อย่างมั่นคง

 1. เมื่อคาดเข็มขัด สายเข็มขัดควรจะแนบกับลำตัว (อย่าใช้อุปกรณ์เหนี่ยวรั้งอื่นๆ)
 2. ตรวจสอบเข็มขัดโดยการดึง และระวังอย่าให้เข็มขัดบิด
 3. ควรปรับระดับเข็มขัดตรงสะโพก เพื่อให้เข็มขัดพาดอยู่ตรงกลางกระดูกเชิงกราน
 4. คาดเข็มขัดนิรภัยก่อนติดเครื่องยนต์เสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook