ขับๆ..เบรคๆ ..พฤติกรรมอันตรายที่ควรรู้ไว้เพื่อปรับปรุง

ขับๆ..เบรคๆ ..พฤติกรรมอันตรายที่ควรรู้ไว้เพื่อปรับปรุง

ขับๆ..เบรคๆ ..พฤติกรรมอันตรายที่ควรรู้ไว้เพื่อปรับปรุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้รถยนต์นั้นนับเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการเดินทางที่คนจำนวนมากต่างเริ่มมีโอกาสมากขึ้นในการใช้รถใช้ถนนจนวุ่นวาย แต่การใช้รถใช้ถนนของคนที่เพิ่มมากขึ้นนี้กลับขาดคุณภาพ และมีหลายปัญหาที่พบเจอกันเป็นประจำ

หลายคนที่ขับรถเป็นประจำคงจะเคยเจอพฤติกรรมแปลกๆ บนถนนที่ล้วนแต่ชวนให้น่าปวดหัวหรืออารมณ์เสีย แต่หนึ่งในหลายๆปัญหานั้นก็ไม่พ้นพฤติกรรม "ขับๆเบรคๆ" ของคนจำนวนหนึ่งบนถนนที่ เราอยากมาพูดคุยกันเสียเล็กน้อย

เรื่องการขับๆเบรคๆ เป็นเรื่องที่เราหลายคนเคยเจอ แต่ก็ไม่มีอะไรดีเยี่ยมเท่ากับได้เรียนรู้พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ที่ล่าสุดเราก็มีโอกาสได้ไปสัมผัสจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว จนรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของพฤติกรรมที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมทางและตัวผู้ขับขี่คนดังกล่าวเอง

พฤติกรรมการขับรถแบบ " ขับๆเบรคๆ" เป็นพฤติกรรมที่ผิดอย่างยิ่งในการขับรถแม้คุณอาจจะเถียงว่ากรมการขนส่งออกใบอนุญาตให้มีสิทธิในการขับขี่ถูกต้อง ทว่าความจริงแล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับกรมขนส่งแต่เป็นเรื่องที่ควรรู้ในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการที่จะรักษาระดับความเร็วให้คงที่ตามต้องการ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง

"การรักษาระดับความเร็ว" นั้นเป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานในการขับขี่ ที่ว่าด้วยการรักษาระดับความเร็วที่ต้องการของผู้ขับขี่ให้เป็นไปตามความต้องการในการเดินทาง ซึ่งนอกจากจะทำให้การขับขี่ราบรื่นและไม่ชวนเหนื่อยล้าทั้งผู้โดยสารและตัวผู้ขับเองแล้ว ข้อสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือตัวเลขประหยัดน้ำมันที่จะดีขึ้นทันตาเห็น

หลายคนมีวิธีรักษาระดับความเร็วที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพยายามคงที่ความเร็วในการเดินทางซึ่งตามปกติแล้วเราควรใช้คันเร่งเป็นตัวกำหนดความเร็ว และวันนี้เรามี 4 ข้อแนะนำมาบอกกล่าว ที่น่าจะช่วยให้คุณเลิกพฤติกรรมขับๆเบรคๆ ได้

1. "เบรคมีไว้หยุดและชะลอ" เท่านั้น จากที่สังเกตเกี่ยวกับการขับขี่ของคนที่มีพฤติกรรมขับๆเบรคๆ นั้น ข้อสำคัญที่เราเห็นได้ชัดคือคนเหล่านี้เชื่อมั่นในเบรคมากกว่าการควบคุมรถด้วยคันเร่ง ซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่ผิดเพราะเบรคนั้นมีไว้เพื่อหยุดรถ หรือลดความเร็ว แต่แม้เราจะบอกว่ามันใช้ลดความเร็วก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะใช้ควบคุมความเร็วได้ผล เพราะ ทุกครั้งที่คุณเหยียบเบรกไฟเบรกด้านท้ายรถจะติดตามไปด้วย ทั้งยังเป็นการสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานช้าลงด้วยการดูดลมจากไอดีไปเสริมแรงกดเบรก ซึ่งอาจจะทำให้คุณเสี่ยงโดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นลองเปลี่ยนมาผ่ิอนคันเร่งดูก่อนหากกระชั้นชิดจริงค่อยเบรค

2.ควบคุมคันเร่ง เรื่องง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเอง ข้อสำคัญในการขับรถนั้นเราหลายคนอาจจะรู้ดีว่า คันเร่งคือตัวเร่งที่ทำให้รถพุ่งทะยานไปข้างหน้า แต่นอกจากมันจะทำให้รถขับเคลื่อนแล้วนั้น เรายังต้องรู้จักควบคุมให้พอเหมาะพอดีในการเดินทาง ซึ่งคุณต้องรู้จักเร่งและผ่อนอย่างเหมาะสม ยิ่งในการเดินทางไกลหากใช้คันเร่งน้อยเท่าไร โดยที่ความเร็วยังคงที่ตามความต้องการนั้นหมายความว่า คุณกำลังขับประหยัดมากขึ้นเท่านั้น

3.ขับๆเบรคๆ ทำแบบนี้มีแต่ข้อเสีย หลายคนอาจจะไม่ทราบ แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า พฤติกรรมการขับขี่ ด้วยวิธีเร่งๆพอถึงความเร็วก็เบรคแล้วก็เร่งอีกนั้น ล้วนมีแต่ข้อเสีย โดยเฉพาะการสึกหรอของชิ้นส่วนต่างๆ เร็วกว่ากำหนด เช่น เบรก เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ นอกจากนี้ทำให้เกิดความร้อนสะสมโดยไม่จำเป็น ซึ่งทันทีที่คุณเลิกพฤติกรรมดังกล่าวก็จะพบว่าการสึกหรอต่างๆน้อยลง เปลี่ยนผ้าเบรค ช้าลง และยังมีอัตราประหยัดน้ำมันที่น่าประทับใจขึ้นอีกด้วย

4.นึกถึงจิตใจเพื่อนร่วมทาง..ที่คุณเป็นอยู่มันอันตราย เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอการขับขี่แบบขับๆเบรคๆ มามากมาย แต่ถ้าวันนี้ท่านผู้อ่านคนใดทำพฤติกรรมดังกล่าวอยู่นั้น เราอยากให้ท่านลองปรับเปลี่ยน โดยนึกถึงเพื่อนร่วมเดินทางท่านอื่นๆ เป็นสำคัญ

ข้อสำคัญที่อันตรายที่สุดของพฤติกรรม "ขับๆเบรคๆ" นั้น คือการสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ขับขี่ท่านอื่นๆที่ทันทีที่คุณเหยียบเบรค ไฟเบรคด้านท้ายจะติดขึ้นเพื่อบอกเป็นสัญญาณหยุด ทั้งๆที่จริงๆความต้องการของคุณเพียงแค่รักษาระดับความเร็ว แล้วลองนึกดูสิครับว่า ถ้าเป็นคุณตามหลังรถที่ขับแล้วไฟเบรคเดี๋ยวติด เดี๋ยวดับตลอดทาง ..คุณจะอารมณ์เสียหรือไม่

ทั้ง 4 เหตุผลสำคัญนี้ น่าจะพอบอกได้ว่าทำไมพฤติกรรมขับๆเบรคๆ ถึงเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณเองและเพื่อนร่วมทาง ซึ่งความจริงแล้วทั้งหมดนี้ไม่ได้มีข้อดีเลยสักอย่างและเพียงวันนี้คุณรู้จักเรียนรู้ "การรักษาความเร็ว" ที่ถูกต้อง คุณก็ช่วยให้ถนนในวันนี้น่าขับขี่มากยิ่งขึ้น

 

ทันทุกข้อมูลก่อนใครบน FB..แค่คลิ๊กที่นี่เลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook