ไฟตัดหมอก แฟชั่น...อันตราย!

ไฟตัดหมอก แฟชั่น...อันตราย!

ไฟตัดหมอก แฟชั่น...อันตราย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสียงบ่นจากผู้ขับขี่รถยนต์บนท้องถนนมีมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับแสงไฟสว่างจ้าจนบางครั้งเกินความจำเป็น ที่สาดส่องมาจากรถที่วิ่งอยู่บนถนนเส้นเดี

เสียงบ่นจากผู้ขับขี่รถยนต์บนท้องถนนมีมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับแสงไฟสว่างจ้าจนบางครั้งเกินความจำเป็น ที่สาดส่องมาจากรถที่วิ่งอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน

ไฟตัดหมอก อุปกรณ์แต่งรถที่กำลังเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่วทั้งรถเก๋ง และรถปิกอัพ คือ ที่มาของแสงสว่างจ้าบนท้องถนนยามค่ำคืน

การเปิดไฟตัดหมอกอาจดูเท่ในสายตาเจ้าของรถ แต่สำหรับผู้ขับขี่ที่โดนแสงไฟตัดหมอกที่เปิดในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม สาดใส่แล้วละก็กลับกลายเป็นความทุกข์ที่ส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น และต้องจำทนกับสภาพนี้โดยทำอะไรไม่ได้มากนอกจากขับหนี หรือปล่อยให้แซงหน้าไป

จากการใช้งานในช่วงเวลาที่ผิดนี้เอง อาจทำให้คุณประโยชน์ที่มีมหาศาลของไฟตัดหมอก กลายเป็นแค่สินค้าแฟชั่น ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุแก่รถยนต์คันอื่นบนท้องถนนได้

ความจริงไฟตัดหมอกมีมานานแล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมเพราะราคาแพงและไม่มีความจำเป็น  จึงมีให้เห็นเฉพาะกับรถนำเข้าจากเขตเมืองหนาวหรือเขตเมืองที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ เท่านั้น  ต่อมาค่านิยมเริ่มเปลี่ยนไป  เพราะการติดไฟตัดหมอกถือว่าเท่และทันสมัย ประกอบกับราคาที่ถูกลงจึงมีการหาซื้อมาดัดแปลงติดตั้งเพิ่มเติมกัน  แม้แต่รถที่ผลิตในเมืองไทยก็ยังนิยมติดไฟตัดหมอก

ไฟตัดหมอก” ถือกำเนิดขึ้นมาในแถบประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อากาศหนาว หรือประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยน้ำทำให้มีฝนตกบ่อยตลอดทั้งปี  มีบรรยากาศที่ขมุกขมัวหรือมีหมอกเป็นส่วนมาก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยานพาหนะจึงมีการคิดค้นไฟตัดหมอกขึ้นมา

ไฟตัดหมอกจะใช้ไฟที่ให้ความสว่างสูง  ส่วนใหญ่หลอดจะเป็นสปอตไลท์ ส่องในระนาบขนานกับพื้นถนนหรือตกพื้นในระยะไกล ดังนั้นความสว่างจึงมีมากและส่องได้ไกลกว่า โดยเฉพาะในยามที่ฝนตกหนัก หรือหมอกลงจัด
 หลอดไฟหน้าปกติถ้าเปิดส่องในขณะที่หมอกจัด มุมที่เอียงลงต่ำทำให้เกิดมุมสะท้อนกลับสู่สายตาของผู้ขับขี่  จึงทำให้แสงที่ส่องผ่านไปมีน้อย หรือมองเห็นแค่ในระยะไม่เกิน 10 - 15 เมตร แถมแสบตากับแสงที่สะท้อนกลับ แต่ไฟตัดหมอกที่ส่องแบบขนานพื้นจะไม่สะท้อนมาที่ห้องโดยสาร เพราะสามารถทะลุทะลวงได้มาก และสะท้อนกลับมาในมุมที่ไม่กระทบผู้ขับขี่ ทำให้มองเห็นได้ในระยะมากกว่า 30 - 80 เมตร

ในทำนองเดียวกัน เมื่อพื้นถนนเปียกหรือฝนหยุดตกใหม่ๆ ในตอนกลางคืน ไฟหน้าปกติที่ส่องลงผิวถนนจะถูกพื้นน้ำสะท้อนออกไปอีกมุมหนึ่ง ซึ่งบางครั้งแทบจะมองไม่เห็นผิวถนนด้วยซ้ำ แต่ไฟตัดหมอกที่แทบจะไม่ส่องลงพื้นถนนยังสามารถมองเห็นผิวถนนในระยะสายตาได้อย่างชัดเจน ซึ่งในแถบประเทศเขตเมืองหนาวได้ออกกฎบังคับให้รถทุกคัน ต้องมีไฟตัดหมอกเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ปัจจุบันคนไทยนิยมตกแต่งรถด้วยไฟตัดหมอก และมักเปิดใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ผิดวิธี  ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทางรายอื่นๆ เพราะ ไฟตัดหมอกเป็นไฟที่ให้ความสว่างสูง ส่วนใหญ่หลอดจะเป็นสปอตไลท์จึงสามารถส่องสว่างไปได้ไกล ซึ่งหากเปิดใช้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แสงจากหลอดไฟตัดหมอกจะไปแยงและรบกวนสายตาผู้ที่ขับรถสวนทางมาทำให้ตาพร่ามัว จึงมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่าปกติ

การใช้ไฟตัดหมอกให้ถูกวิธี จึงมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องจากทั้งทางภาครัฐ และเอกชน โดยกรณีที่จำเป็นต้องเปิดไฟตัดหมอก ประกอบด้วย

1. ฝนตกปรอยๆ หรือตกหนัก ไฟตัดหมอกจะมีประโยชน์มาก แม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตามเพราะมันสามารถช่วยให้รถที่สวนมามองเห็นไฟตัดหมอกอย่างชัดเจน

2. เมื่อขึ้นภูเขาสูงหรือยอดเขา โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน   เพราะที่สูงๆ นั้น หมอกจะมีมากกว่าปกติ

3. ในช่วงกลางคืนหลังฝนหยุดตกหรือถนนยังเปียกอยู่ ซึ่งไฟตัดหมอกจะช่วยให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ดีขึ้น เพราะไฟหน้าปกติถูกน้ำสะท้อนไปเกือบหมดแล้ว

4. ทุกกรณีที่มีหมอกหรือควันเกิดขึ้นบนท้องถนนที่บดบังทัศนวิสัยให้มองเห็นได้น้อยกว่า 50 เมตร

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ควรปิดไฟตัดหมอกทันทีที่มีรถสวนมาในระยะที่มองเห็นไฟหน้าของรถที่สวนมาได้อย่างชัดเจน แม้แต่รถที่มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติก็จะสั่งปิดไฟตัดหมอก คงไว้เฉพาะไฟปกติเมื่อสัญญาณจับได้ว่ามีไฟสะท้อนมาในมุมตรงข้าม

การใช้ไฟตัดหมอกอย่างถูกวิธีจะก่อให้เกิดประโยชน์และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเสริมทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ให้ดีขึ้น

ในทางตรงกันข้าม การเปิดไฟตัดหมอกอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่มีมารยาท และผิดวิธี นอกจากจะรบกวนสายตาและสร้างความรำคาญให้กับผู้ขับรถรายอื่นๆ  ที่ร่วมใช้เส้นทางแล้ว ยังเพิ่มโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติอีกด้วย 

 

"ปัจจุบันคนไทยนิยมตกแต่งรถด้วยไฟตัดหมอก และมักเปิดใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ผิดวิธี  ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทางรายอื่นๆ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook