ใช้งานเนวิเกเตอร์ในชีวิตจริงอย่างไรให้มีความสุข

ใช้งานเนวิเกเตอร์ในชีวิตจริงอย่างไรให้มีความสุข

ใช้งานเนวิเกเตอร์ในชีวิตจริงอย่างไรให้มีความสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนวิเกเตอร์นับว่าเป็นอุปกรณ์ประจำรถชิ้นใหม่ของหลายๆ คนจากข้อมูลที่ได้เขียนในสัปดาห์ก่อนๆก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจและสนใจเครื่องนำทางมากขึ้น

เนวิเกเตอร์

สำหรับท่านที่ยังเป็นมือใหม่อาจจะมีความรู้สึกมึนงงบ้างไม่มากก็น้อยกับเนวิเกเตอร์ จะบอกว่าการใช้งานยากก็คงไม่ใช่เพราะเครื่องรุ่นใหม่ๆ ใช้งานง่ายกว่ารุ่นก่อนๆ เยอะ เนื่องจากเนวิเกเตอร์เป็นของใหม่และคนส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์การใช้งานมาก่อน ไม่เหมือนกับโทรศัพท์มือถือที่เกือบทุกคนคงเคยใช้โทรศัพท์ธรรมดามาก่อนจะไปซื้อมือถือ เมื่อซื้อมาแล้วขอให้สนทนาได้ก่อนเป็นพอใจ ฟังก์ชันอื่นๆ ที่เติมเข้ามาก็ค่อยๆ ศึกษาไป

เนวิเกเตอร์เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีให้เราๆ ท่านๆได้เป็นเจ้าของกันได้ง่ายอย่างตอนนี้ คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายมากจริงๆ ไม่เกินสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในการใช้งานครั้งแรกของคนส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ไปเรียนวิธีการใช้งานเบื้องต้นก็ต้องงมเอาเอง ถามเพื่อนบ้าง รู้ว่าจะทำอันนี้ต้องใช้อันนั้นกดอย่างนี้ ต้องจดใส่กระดาษเป็นขั้นเป็นตอนในการใช้งานอะไรสักอย่าง อันนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าอะไรที่เราไม่เคยใช้มาก่อนนั้นต้องศึกษาและอดทนกว่าจะใช้งานได้เป็น ได้คล่อง จนเป็นที่พอใจ มิหนำซ้ำยังจะทำอะไรมากกว่าที่คาดไว้ได้อีกมากมาย

เนวิเกเตอร์หรือจีพีเอสแบบอื่นๆ ก็เช่นกัน ก่อนจะใช้ได้คล่อง ได้ประโยชน์ตามที่หวัง ต้องเรียนรู้ว่าข้อจำกัดของอุปกรณ์มีอะไรบ้าง ไม่มีสิ่งใดที่จะทำอย่างที่เราต้องการได้ทุกอย่าง หรือใช้ง่ายจนไม่ต้องศึกษาใดๆ เลย

จากประสบการณ์พบว่าคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ได้จะใช้เนวิเกเตอร์ได้เร็วกว่าคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย ผู้ใหญ่ท่านอยากใช้เพราะไม่คุ้นกับถนนใหม่ทำให้เดินทางไปไหนไม่สะดวก แต่เมื่อซื้อมาแล้วต้องยอมแพ้ยกให้ลูกให้หลานไปใช้เพราะมึนไปหมด หากใช้คอมพิวเตอร์เป็นบ้างก็น่าซื้อให้ ถ้าใช้ไม่เป็นเลยอย่าซื้อให้ดีกว่า เพราะคนรับคงดีใจตอนได้รับแต่เมื่อใช้แล้วใช้ไม่เป็น จะหงุดหงิดทั้งคนให้และคนรับ ข้อสันนิษฐานก็คือถ้าใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลยจะไม่เข้าใจตรรกในการทำงานของซอฟต์แวร์ต่างๆ ทำให้เมื่อใช้แล้วหลงทางอยู่ในเมนูของเครื่อง

การใช้เนวิเกเตอร์ในการนำทางนั้นต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการทำงานของซอฟต์แวร์ การแสดงผลและเสียงบอกนำทางของเครื่องก่อนจึงจะใช้งานได้อย่างดี สิ่งที่ควรทราบคือ เนื่องจากซอฟต์แวร์นำทางเกือบทั้งหมดเขียนในต่างประเทศ ซึ่งการออกแบบถนนไม่ได้เป็นแบบบ้านเรา ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งานบางอย่างขึ้น เช่น

1. ถนนยกระดับ ซึ่งในกรุงเทพมีถนนซ้อนกันพอสมควรทำให้เครื่องงงว่าเราอยู่ด้านบนหรือด้านล่าง แต่ในประเทศเช่นอเมริกาเท่าที่เห็นจะไม่มีการสร้างถนนยกระดับซ้อนกับถนนด้านล่าง การออกแบบซอฟต์แวร์จึงไม่รองรับเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้งานนั้นไม่ควรจะดูแต่การนำทางเฉพาะหน้าเท่านั้น ควรศึกษาเส้นทางที่เครื่องเลือกให้เดินทางและจดจำเส้นทางไว้ในใจด้วย อย่าพึ่งแต่เครื่องอย่างเดียว

2. ทางแยกสะพานต่างระดับที่ซับซ้อน รวมทั้งทางต่างระดับในทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ ที่เพิ่งเจอเมื่อวานคือถนนวิภาวดีจะไปเซ็นทรัลลาดพร้าว ตอนนี้มีสะพานข้ามไป เนื่องจากไม่ได้ไปแถวนั้นบ่อยนักก็จะงงว่าเส้นไหนกันแน่ เพราะเริ่มจากเส้นเดียวแต่แตกออกไป 3 ทางแยก ณ จุดเดียวกัน หากฟังเสียงอย่างเดียวอาจจะหลงได้ ต้องดูเส้นนำทางประกอบรวมทั้งป้ายจราจรด้วย เช่นเดียวกับข้อแรกคือหากศึกษาเส้นทางของเครื่องก่อนก็จะดี

3. อย่าขับตามเครื่องตลอด ถ้ารู้ทางบางส่วนอยู่แล้วให้ขับตามใจเรา ถ้าเราขับตามทางที่เราชอบเครื่องจะคำนวณเส้นทางใหม่เอง พอไปบริเวณที่ไม่รู้ค่อยเชื่อเครื่อง ถ้าไม่รู้อะไรเลยก็เชื่อเครื่องตลอด

4. นำทางในเมืองอยู่ดีๆ คำนวณเส้นทางใหม่เอง แม้ว่าไม่ได้เลี้ยวผิดหรือจอดอยู่เฉยๆ อันนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณตึกสูงซึ่งจะบังสัญญาณทำให้ตำแหน่งแกว่ง เครื่องก็จะงงว่าอยู่ตรงไหนกันแน่ อันนี้ก็เช่นเดียวกันให้ดูในหน้าจอสรุปเส้นทางแล้วจดจำไว้ว่าเลี้ยวที่ไหนไปอย่างไรบ้างคร่าวๆ ก็จะช่วยได้ ถ้าไม่ศึกษาเส้นทางไว้เลยมึนแน่นอนครับถ้าไปบริเวณที่มีตึกหนาแน่น

5. กฎจราจร บางครั้งอาจจะเจอว่าเครื่องบอกให้เลี้ยวขณะที่ป้ายจราจรบอกเลี้ยวไม่ได้ ก็อาจจะผิดพลาดตอนเก็บข้อมูลหรือตำรวจเปลี่ยนการจราจร ก็ต้องเชื่อป้าย

6. เสียงบอกนำทางกับเส้นนำทางไม่ตรงกัน อันนี้ก็เกิดขึ้นได้จากการโปรแกรมที่ไม่ถูกต้อง ต้องดูเส้นนำทางเป็นหลัก

7. พาเข้าซอยตัน เคยเจอหนึ่งครั้ง ก็ให้เครื่องคำนวณใหม่โดยถอยหลังกลับแล้วดูแผนที่ในเครื่องประกอบ

8. พาไปไม่ถึงจุดหมาย แต่พาอ้อมไปบริเวณใกล้เคียง อันนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างจุดหมายของเราในบริเวณที่ไม่มีถนนในแผนที่ ทำให้เครื่องคำนวณไปยังจุดที่ใกล้จุดนั้นที่สุดตามข้อมูลแผนที่ ดังนั้นจะสร้างตำแหน่งบ้านหรือจุดอื่นๆ เอง ให้ดูว่ามีถนนหน้าบ้านหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ไปสร้างตำแหน่งที่มีถนนบริเวณเป็นจุดสุดท้ายซึ่งใกล้และเป็นถนนที่ไปยังจุดหมาย

9. เส้นทางที่เครื่องเลือกให้ไม่ถูกใจ ทำไงดี มี 2 ทางคือ ส่วนที่รู้ให้ขับตามทางที่เราชอบเครื่องจะคำนวณเส้นทางใหม่เอง พอไปบริเวณที่ไม่รู้ค่อยเชื่อเครื่อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเครื่องไม่มีข้อมูลจราจรมาประกอบนอกจากความเร็วเฉลี่ยที่ถูกโปรแกรมมาเป็นค่าคงที่ แต่ถ้าเมื่อใดมีข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์มาประกอบเชื่อเครื่องน่าจะดีกว่าครับ อีกวิธีก็ใช้การแต่งเส้นทางโดยสร้างจุดแวะให้เครื่องวิ่งไปในทางที่ชอบ หรือเครื่องที่สร้างเส้นทางได้ก็สร้างเส้นทางเก็บเอาไว้

ทั้งนี้ก็สรุปได้ว่าเนวิเกเตอร์เป็นเครื่องช่วยในการนำทางแต่ผู้ขับขี่ก็คือผู้กุมพวงมาลัย และเป็นผู้นำทางตัวจริง อย่าทิ้งความสามารถนี้ไปและพึ่งแต่เครื่อง ให้ศึกษาเส้นทางที่เครื่องแนะนำก่อนออกเดินทาง ดูในจุดที่น่าจะเป็นปัญหา จดจำเส้นทางคร่าวๆไว้เองด้วย และหากไปไกลศึกษาแผนที่กระดาษประกอบด้วยก็จะใช้เนวิเกเตอร์ได้อย่างมีความสุขครับ

navigator zone

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook