จะเป็นเจ้าของ Big Bike สักคัน จะมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

จะเป็นเจ้าของ Big Bike สักคัน จะมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

จะเป็นเจ้าของ Big Bike สักคัน จะมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ยานพาหนะที่มีกระแสมาแรงในตอนนี้ คงหนีไม่พ้น รถจักรยานยนต์ Big Bike แน่นอน เพราะมีทั้งความสวยงาม ความเร็ว ความคล่องตัว และราคาที่คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ โดยมีตั้งแต่ระดับ 300 ซีซี ไปจนถึงระดับ 1,800 ซีซี แต่รถจักรยานยนต์เหล่านี้ ไม่ใช่ว่าซื้อมาแล้วจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกครับ วันนี้จะขอนำเสนอ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับการเป็นเจ้าของ Big Bike มาให้ผู้ที่สนใจใช้ประกอบการพิจารณาครับ

 

     1.ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามระยะทาง

     ปกติการเข้าศูนย์บริการครั้งแรกจะต้องเข้าเช็คระยะเมื่อครบ1,000 กิโลเมตรแรก เพื่อทำการถ่ายน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่อง ค่าแรงช่างยนต์ ซึ่งคิดเป็นรายชั่วโมง และค่าน้ำมันเครื่อง รถ Big Bike จะใช้น้ำมันเครื่องราว ๆ 1.5 – 4.0 ลิตร ซึ่งมีราคาลิตรละสองถึงสามร้อยบาท ยิ่งยี่ห้อที่มีคุณภาพสูง ราคาก็ยิ่งสูงตาม
 
     ในส่วนการเข้าบำรุงรักษาตามระยะทาง ค่าใช้จ่ายจะสูงต่ำไปตามซีซีของรถ และยี่ห้อของรถ
เช่น รถ 300 ซีซี เวลาเข้าเช็คระยะ จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ารถ 600 ซีซี และรถยุโรป เวลาเข้าเช็คระยะจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารถญี่ปุ่นครับ


     2.ค่าอะไหล่

     บรรดาอุปกรณ์ที่มีติดมาให้กับรถ เช่น ยางรถ กรองอากาศ ไส้กรองน้ำมันเครื่อง หัวเทียน ไฟหน้า ไฟท้าย ผ้าเบรก ชุดโซ่ สเตอร์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ของเหล่านี้ เป็นของที่มีการเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน เมื่อถึงเวลาที่สิ่งของเหล่านี้เสื่อมสภาพ ก็จะต้องเปลี่ยนของใหม่ใส่เข้าไป ราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ชิ้นใหม่ที่เอามาเปลี่ยน ถ้าเป็นของแท้จากศูนย์บริการ ก็จะมีราคาสูง แต่ศูนย์บริการก็จะรับประกันให้ แต่ถ้าเป็นของปลอม หรือไม่ใช่ของศูนย์บริการ จะมีราคาถูก แต่ไม่มีการรับประกันให้

     สิ่งที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด คือ ยางรถ เพราะรถซื้อมาก็ต้องวิ่ง ยิ่งวิ่งมากยางก็ยิ่งสึกและเสื่อมสภาพไป ยางรถ Big Bike คู่หนึ่ง มีราคาตั้งแต่ 4,000 – 5,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท ตามคุณภาพของยาง เรียกได้ว่า จะเปลี่ยนยางแต่ละครั้ง ต้องเก็บเงินกันหลายเดือนเลยทีเดียวครับ

            
     3. ค่าเบี้ยประกันภัย

     ปกติถ้าซื้อรถ Big Bike แบบเช่าซื้อ หรือซื้อเงินผ่อน บริษัทไฟแนนซ์มักจะให้ผู้เช่าซื้อทำประกันภัยรถและจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย แม้หลายคนอาจจะซื้อรถด้วยเงินสด แต่ด้วยราคาตัวรถที่สูง การทำประกันภัยไว้ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุจะได้อุ่นใจ เพราะไม่ต้องจ่ายเงินซ่อมรถเองทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้ ก็จะมีค่าเบี้ยประกันภัย ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นค่าใช้จ่ายครับ

             
     4.ค่าอุปกรณ์การขับขี่

     เนื่องจากรถBig Bike เป็นรถที่มีความเร็วสูง และมีน้ำหนักมาก เวลาเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง อาจทำให้มีความเสียหายมาก ดังนั้น ผู้ขับขี่จึงต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันความเสียหายจากอุบัติเหตุ ซึ่งได้แก่

     - หมวกนิรภัย   (ราคา 2,000 - 30,000 บาท)

     - เสื้อแจ๊คเกต  (ราคา 5,000 – 30,000 บาท)

     - รองเท้า  (ราคา 2,000 – 15,000 บาท)

     - ถุงมือ  (ราคา 500 – 6,000 บาท)

             
     5.ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เสริมเพื่อความสะดวกสบาย
 

     สำหรับคนที่ซื้อ Big Bike เพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
ตัวรถเปล่า ๆ อาจจะไม่สะดวกสบายเพียงพอ ต้องมีการติดอุปกรณ์เสริม เช่น กล่องบรรทุกสัมภาระ GPS เพื่อใช้ดูเส้นทาง โครงเหล็กกันเครื่องและตัวรถสำหรับลุยทางวิบาก เพื่อให้รถพร้อมสำหรับทุกการเดินทาง ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยกล่องบรรทุกสัมภาระ จะมีทั้งกล่องเหล็กและพลาสติก กล่องเหล็กจะมีราคาราว ๆ 30,000 – 50,000 บาท ส่วนกล่องพลาสติกจะมีราคาราว ๆ 10,000 – 20,000 บาท ครับ



     ขอบคุณข้อมูลจาก thaifastbike.com, th-Big Bike.com, greatbiker.com

     *เนื้อหามีการเปลี่ยนแปลงจากต้นฉบับ คลิกอ่านที่นี่

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook