จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ มีเพื่ออะไร แตกต่างกันหรือไม่

จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ มีเพื่ออะไร แตกต่างกันหรือไม่

จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ มีเพื่ออะไร แตกต่างกันหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ช่วงหลังมานี้ ข่าวคราวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับผู้ใช้รถใช้ถนนมีมากเหลือเกิน นึกแล้วก็เห็นใจคนทำมาหากินพลัดถิ่นตาดำๆ  ต้องมารับกรรมกับสิ่งที่ไม่ได้ก่อขึ้น ที่ต้องกล่าวแบบนี้ เพราะว่าคนสมัยนี้ขับรถใจร้อนกันเหลือเกิน ปาดขวา แซงซ้าย เบรกกะทันหัน บีบแตรไล่ เห็นแล้วสะเทือนใจจริงๆ  การขับรถแบบนี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อมีผู้กระทำความผิดจากการใช้รถบนท้องถนน การตั้งด่าน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้

     แน่นอนครับ ทุกครั้งที่มีการตั้งด่าน ตามหลักความเป็นจริงคือตรวจสอบผู้กระทำความผิด แต่มักจะเกิดเป็นคำถามที่ผู้ใช้รถยนต์อยากรู้คำตอบว่า แท้จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตั้งด่านเพื่อวัตถุประสงค์อะไร แล้วขอบเขตของการตั้งด่านเป็นแบบไหน Knowledge จะพามาไขข้อข้องใจ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะการตั้งด่านที่ถูกต้องกันครับ

    จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ คืออะไร            

     การตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ Knowledge สอบถามไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร โดยมี พ.ต.อ.วีระ จิรวีระ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ได้อธิบายความหมายของ จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ ว่า

     “จุดสกัด หมายถึง สถานที่ปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ในการตรวจสอบ ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องยุบโดยทันทีเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น

     ขณะที่จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ในการตรวจสอบ ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีปกติ โดยมีระยะเวลากำหนด เท่าที่มีความจำเป็น แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว จะต้องยุบจุดตรวจทันที

     ส่วน ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร ซึ่งการตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก  ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)”

     จะเห็นได้ว่า จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ มีลักษณะการปฏิบัติงานคล้ายกัน คือเพื่อตรวจสอบผู้กระทำความผิด แต่ขอบเขต รวมไปถึงระยะเวลาในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ

     การตั้ง จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย การตั้งจุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ จะมีลักษณะแตกต่างกันไป  จุดสกัด ต้องได้รับคำสั่งจากผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานี ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วในสภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สกัดจับคนร้ายชิงทรัพย์ เป็นต้น

     ส่วนจุดตรวจ จะมีลักษณะที่แตกต่างจากจุดสกัดคือ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับการ มีป้ายระบุชัดเจนว่าคือจุดตรวจ มีชื่อของหัวหน้าจุดตรวจ และมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออย่างชัดเจน นอกจากนี้ในบางสถานการณ์ เช่น มีการขัดขืน หลบหนี หรือพกอาวุธ จุดตรวจต้องมีชุดคุ้มกันและชุดไล่ติดตาม เมื่อเกิดเหตุอันตรายอีกด้วย

     ขณะที่ด่านตรวจ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2535 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ด่านตรวจจะมีลักษณะถาวร ตั้งอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงและอันตราย เช่น ตามชายแดน เส้นทางโจร เพื่อป้องกันด้านความมั่นคงของประเทศ  

     เพื่อความปลอดภัย ผู้ใช้รถโปรดเข้าใจ

     น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตั้งด่านบนท้องถนน จะเห็นได้ว่าเราขับรถไปบนท้องถนน พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มักจะคุ้นชินกับคำว่า “เจอด่าน” แต่ในความจริงแล้ว อาจจะเป็นแค่จุดสกัดหรือจุดตรวจเพียงเท่านั้น ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า เมื่อเราขับรถมาถึง จุดสกัด, จุดตรวจ หรือแม้แต่ด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจแค่ตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่นแอบแฝง

     ส่วนคนใช้รถใช้ถนน ถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็อย่ากลัวครับ เจอด่าน อาจจะทำให้เสียเวลาไปบ้าง แต่ผมก็เชื่อว่าทุกคนเข้าใจ คิดเสียว่ามีคนคอยห่วงใยเมื่ออยู่บนท้องถนน สวัสดีครับ…          

 

เรื่อง : GRANDPRIX MAGAZINE

เรียบเรียงข้อมูลโดย www.gpinews.com

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th

 

 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ จุดสกัด จุดตรวจ ด่านตรวจ มีเพื่ออะไร แตกต่างกันหรือไม่

police (1)
police (2)
police (3)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook