จำให้แม่น! รถเบรกแตก ทำอย่างไรจึงจะรอด...

จำให้แม่น! รถเบรกแตก ทำอย่างไรจึงจะรอด...

จำให้แม่น! รถเบรกแตก ทำอย่างไรจึงจะรอด...
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     อากาศในบ้านเราช่วงนี้หนาวเย็นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หลายคนอยากขึ้นไปสูดอากาศบริสุทธิ์บนภูเขาหรือดอยต่างๆ

     ซึ่งการขับรถขึ้นยอดดอยน่ะไม่เท่าไหร่ ยิ่งรถมีกำลังมากขนาดไหน ก็ขับขึ้นไปได้สบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ขาลงถือว่าตรงกันข้าม เพราะใช้กำลังจากเครื่องยนต์น้อยกว่ามาก แต่ที่สำคัญคือ 'ระบบเบรก' ที่ต้องใช้ให้เป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เบรกเกิดความร้อนสูงจนทำให้เบรกไม่อยู่ได้

     สิ่งสำคัญในการขับรถลงเขา คือ การใช้เกียร์อย่างเหมาะสม หากใช้เกียร์ D ตลอดทางรับรองว่าเบรกต้องทำงานหนักแน่นอน เพราะรถจะไม่มีเอนจิ้นเบรกช่วยชะลอความเร็ว ดังนั้น จึงเป็นภาระของผ้าเบรกและจานเบรกล้วนๆ ที่คอยประคับประคองไม่ให้รถไหลลงมาเร็วเกินไป เมื่อเหยียบเบรกนานเข้า จะทำให้เกิดความร้อนสะสมจนทำให้เบรกไม่อยู่ กลายเป็นข่าวรถแหกโค้งลงเขามีให้เห็นกันทุกปี

 

     Sanook! Auto จึงขอแนะนำเทคนิครับมืออาการ 'เบรกแตก' เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความรุนแรงจากการปะทะให้มากที่สุด มีวิธีดังนี้...

1.ใช้เอนจิ้นเบรก

     หากพบว่ารถเบรกไม่อยู่แล้ว ให้ดึงคันเกียร์ลงมาจากตำแหน่ง D มาเป็น 2 หรือ L เกียร์จะถูกเปลี่ยนเป็นตำแหน่งที่ต่ำลงมา รอบเครื่องยนต์จะพุ่งขึ้นสูงทันที เกิดเป็นเอนจิ้นเบรกช่วยชะลอความเร็วได้อย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ช่วยให้ความเร็วอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมพวงมาลัยได้อย่างปลอดภัย

2.ดึงเบรกมือ

     เมื่อรถเริ่มชะลอความเร็วลงแล้ว ให้พยายามดึงเบรกมืออย่างนุ่มนวล เพราะการดึงเบรกมืออย่างรุนแรงอาจทำให้ล้อล็อคจนเสียหลักได้ เมื่อความเร็วลดลงต่ำจนคิดว่าปลอดภัย ให้ผลักตำแหน่งเกียร์ไปยัง N เพื่อตัดกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อ ควบคู่ไปกับการหยุดรถให้สนิทด้วยเบรกมือ

3.ใช้สิ่งรอบข้างเข้าช่วย

     หากเบรกมือไม่สามารถช่วยได้ หรือจำเป็นต้องหยุดรถทันทีเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางด้านหน้า ทางออกสุดท้ายคือการใช้สิ่งรอบข้างช่วยลดความเร็ว เช่น แบริเออร์, ร่องน้ำ หรือสิ่งใดก็ตามที่ช่วยชะลอความเร็วโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายโดยตรงกับผู้โดยสาร ซึ่งแม้ว่าจะดูเสี่ยงและรุนแรง แต่ดีกว่าปล่อยให้รถไหลจนตกเขาหรือชนต้นไม้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้โดยสารมากกว่า

     ทางที่ดีควรศึกษาวิธีการใช้ระบบเบรกอย่างถูกต้อง และหมั่นตรวจเช็คความสมบูรณ์ของระบบเบรกเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติกับระบบเบรกตั้งแต่เริ่มต้นครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook