รีวิว Foton Tunland 2017 ใหม่ มีดีกว่าที่คิด.. แต่ยังต้องปรับปรุงอีกหน่อย

รีวิว Foton Tunland 2017 ใหม่ มีดีกว่าที่คิด.. แต่ยังต้องปรับปรุงอีกหน่อย

รีวิว Foton Tunland 2017 ใหม่ มีดีกว่าที่คิด.. แต่ยังต้องปรับปรุงอีกหน่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     Foton Tunland 2017 กระบะสายพันธ์แดนมังกรคันนี้ ถูกเปิดตัวครั้งแรกในไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ชูจุดเด่นที่การรวมเอาเทคโนโลยีและชิ้นส่วนระดับโลกเข้าไว้ด้วยกัน แต่ผลลัพท์ที่แท้จริงจะออกมาเป็นอย่างไร.. Sanook! Auto จะพาไปหาคำตอบกัน

     โฟตอน ทูนแลนด์ ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยครั้งแรกที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โปช่วงปลายปี 2016 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นรถที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่กำลังมองหารถกระบะ ซึ่งปัจจุบันตลาดออสเตรเลียที่นิยมรถกระบะขนาด 1 ตัน ก็มีรถรุ่นนี้วางจำหน่ายอยู่ด้วยเช่นกัน นับว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียวสำหรับแบรนด์จีนรายนี้

205

     Tunland ถูกทำตลาดด้วยตัวถังจำนวน 2 แบบ ได้แก่ ซิงเกิ้ลแค็บ และดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู โดยไม่มีรุ่นแค็บ 2 ประตู เหมือนกับคู่แข่งรายอื่นในปัจจุบัน ทำให้ทูนแลนด์ไม่เพียงเป็นรถกระบะเพื่อการพาณิชย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเน้นการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไปอีกด้วย

204

     โฟตอน ทูนแลนด์ 2017 มีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 5 รุ่นย่อย แบ่งออกเป็นซิงเกิ้ลแค็บจำนวน 1 รุ่น และดับเบิ้ลแค็บอีก 4 รุ่น โดยมีรุ่นท็อปสุดเพียงรุ่นเดียวที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ นอกนั้นเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหลังทั้งหมด

  • Single Cab Standard Flat Bed
  • Double Cab Standard 2WD
  • Double Cab High Standard 2WD (ยกสูง)
  • Double Cab High Premium 2WD (ยกสูง)
  • Double Cab 4WD

206

     จุดขายหลักของ Foton Tunland คือ การเลือกใช้ส่วนประกอบจากซัพพลายเออร์เจ้าดังของโลกเข้ามารวมไว้ในรถคันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบของ Cummins, ชุดขับเคลื่อนสี่ล้อของ Borg Warner, เพลาและเฟืองขับของ Dana มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ชุดเกียร์ของ Getrag, อุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์และระบบเบรก ABS ของ Bosch ก็มาจากประเทศเยอรมนี ขณะที่ดีไซน์ตัวถังก็เป็นหน้าที่ของโฟตอนประเทศจีน และส่งชิ้นส่วนต่างๆ เข้ามาประกอบในประเทศไทย โดยมีการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทยเข้าไปด้วย

     ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ Foton Tunland จะมีรูปลักษณ์หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับรถหลายรุ่นในท้องตลาด หน้าเหมือนรถรุ่นนี้บ้าง.. ท้ายเหมือนรถรุ่นนี้บ้าง.. เอ๊ะ! ประตูยกชุดมาจากรถรุ่นนี้เลยนี่หว่า.. ไฟท้ายนี่ดูแล้วนึกถึงรถรุ่นนี้นะ.. ประโยคเหล่านี้มักจะผุดขึ้นมาในหัวตลอดระหว่างที่ผู้เขียนกำลังทดสอบเจ้ารถคันนี้

208

     อันที่จริงดีไซน์ภายนอกของ Foton Tunland ก็ถิอว่าลงตัวและดูร่วมสมัยพอสมควร ด้านหน้าถูกติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ฮาโลเจนขนาดใหญ่ มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติทุกรุ่นย่อย พร้อม Daytime Running Light แบบฮาโลเจนบริเวณกันชน ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับไฟตัดหมอกในรถทั่วไป

     ตัวถังด้านข้างดีไซน์คุ้นตา ติตดั้งกระจกมองข้างแบบพับไฟฟ้าพร้อมไฟเลี้ยวมาให้ เสริมซุ้มล้อทั้ง 4 ข้างเพิ่มความดุดัน ขณะที่กระจกบานหลังแม้ว่าจะดูมีขนาดเล็ก แต่ถึงเวลาใช้งานจริงก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

210

     ขณะที่ด้านท้ายติดตั้งไฟท้ายทรงตั้งขนาดใหญ่ กันชนท้ายสีเดียวกับตัวรถติดตั้งมาจากโรงงานพร้อมไฟตัดหมอกด้านหลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ติดตั้งเซ็นเซอร์กะระยะด้านหลังมาให้ มีพื้นปูกระบะมาให้เสร็จสรรพทุกรุ่นย่อย

     ห้องโดยสารภายในของรุ่น Double Cab High Premium 2WD ที่เราคลุกคลีอยู่ด้วยกันทั้งวัน ถือว่าดูดีมีราคาพอสมควร ทั้งคุณภาพของวัสดุและการประกอบ ไม่ใช่พลาสติกก๊องแก๊งเหมือนกับแบรนด์จีนบางค่าย แม้จะไม่เนี๊ยบเหมือนกับแบรนด์เจ้าตลาดในปัจจุบัน แต่แค่นี้ก็ถือว่าดีกว่าที่คิดไว้มากแล้ว

241

     คอนโซลกลางถูกติดตั้งเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ รองรับแผ่น DVD ได้ สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth พร้อมปุ่มรับสาย-วางสายโทรศัพท์ทั้งบนคอนโซลและพวงมาลัย ติดตั้งลำโพงมาให้ทั้งหมด 4 จุดรอบคัน ซึ่ง Interface ในการใช้งานก็ถือว่าไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย คุณภาพเสียงอยู่ในระดับพอรับได้

     ขยับลงมาเป็นสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแบบดิจิตอล ให้ความเย็นรวดเร็วทันใจและเย็นเจี๊ยบตลอดทาง ความแรงลมสามารถกระจายมาถึงด้านหลังได้ดี ใกล้กับคันเกียร์เป็นปุ่มควบคุมความเร็วอัตโนมัติขณะลงทางลาดชัน ปุ่มปิดการทำงานระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP และปุ่มควบคุมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบหมุน (เฉพาะรุ่น 4WD)

245

     ฝั่งผู้ขับขี่ถูกติดตั้งพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้าน โดยปุ่มควบคุมทางซ้ายมือใช้สำหรับควบคุมเครื่องเสียงและโทรศัพท์ ด้านขวามือใช้ควบคุมระบบครูซคอนโทรล (ใช่ครับ มีครูซคอนโทรลมาให้ด้วย!) และหน้าจอ MID บริเวณมาตรวัดความเร็ว ซึ่งพวงมาลัยมีลักษณะอวบกระชับมือ แต่การดีไซน์ออกจะดูเรียบแบนไปนิด

     มาตรวัดความเร็วจะเรืองแสงสีฟ้าเมื่อเครื่องยนต์ติดอยู่ ตัวเลขมีขนาดใหญ่ สามารถอ่านค่าได้อย่างชัดเจน ขณะที่ก้านควบคุมไฟเลี้ยวและที่ปัดน้ำฝนจะติดตั้งเหมือนกับรถญี่ปุ่นทั่วไป คือ ไฟเลี้ยวอยู่ทางด้านขวา และที่ปัดน้ำฝนทางด้านซ้าย

     ประตูทั้ง 4 บาน ถูกติดตั้งกระจกหน้าต่างขึ้น-ลงอัตโนมัติฝั่งคนขับ ขณะที่ประตูอีก 3 บานที่เหลือมีระบบลงอัตโนมัติ ส่วนขึ้นจำเป็นต้องกดปุ่มค้างไว้

244

     Foton Tunland มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยเทียบเท่ากับเจ้าตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า, เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด จำนวน 4 ตำแหน่ง (ไม่มีเข็มขัดผู้โดยสารหลังตำแหน่งกลางมาให้), ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี อีกทั้งยังมีระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง TPMS และเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปมาให้อีกด้วย ถือเป็นจุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งเลยก็ว่าได้

     ตัวถังของ Foton Tunland รุ่นดับเบิ้ลแค็บ มีความยาวตลอดคันอยู่ที่ 5,310 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,880 มิลลิเมตร ความสูง 1,860 มิลลิเมตรในรุ่น 2WD ยกสูง และ 1,870 มิลลิเมตร ในรุ่น 4WD ความยาวฐานล้อ 3,105 มิลลิเมตร มาพร้อมถังน้ำมันขนาด 76 ลิตรทุกรุ่น

209

     ด้านขุมพลังในรุ่นยกสูงและรุ่น 4WD เป็นเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ไดเร็คอินเจคชั่นเทอร์โบขนาด 2.8 ลิตร รหัส ISF2.8-120KW ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 360 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800-3,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ไม่มีเกียร์อัตโนมัติให้เลือก ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ EURO 4

     ด้านช่วงล่างเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบแหนบซ้อน เช่นเดียวกับกระบะยี่ห้ออื่นในตลาด แต่มีจุดเด่นก็คือระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ ใน 2 รุ่นท็อปสุด (High Premium 2WD และ 4WD) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน นอกนั้นเป็นแบบหน้าดิสก์หลังดรัมทั้งหมด

220

     เส้นทางการทดสอบครั้งนี้ เราออกสตาร์ทจากสำนักงานใหญ่ของ บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่บนถนนอ่อนนุช มุ่งหน้าไปยัง จ.ชลบุรี

     เริ่มแรกผู้เขียนมีโอกาสเป็นผู้โดยสารด้านหลังก่อน ซึ่งพื้นที่ห้องโดยสารด้านหลังถือว่าไม่ต่างจากกระบะดับเบิ้ลแค็บทั่วไป กว้างขวางโปร่งสบาย มีพื้นที่วางขาและพื้นที่เหนือศีรษะแบบเหลือๆ องศาพนักพิงหลังกำลังดี ประกอบกับพนักพิงศีรษะที่เซ็ทมาให้ดันศีรษะอย่างพอเหมาะพอเจาะ ไม่เมื่อยล้า แต่ทว่ามีเข็มขัดนิรภัยเพียง 2 ตำแหน่งซ้าย-ขวาเท่านั้น ไม่มีเข็มขัดสำหรับผู้โดยสารคนกลางมาให้

222

     ในตำแหน่งผู้โดยสารด้านหลัง สามารถรับรู้แรงสะเทือนจากพื้นถนนเข้ามาพอสมควร แต่ก็อยู่ในระดับเดียวกับกระบะสัญชาติญี่ปุ่นบางรุ่นที่เราเคยทดสอบไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น หากใครมองหาความนุ่มสบายในการโดยสารเป็นสำคัญแล้วล่ะก็ แนะนำให้ซื้อรถเก๋งไปเลยก็ดูเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะถึงอย่างไร รถกระบะก็ต้องออกแบบช่วงล่างเพื่อการบรรทุกของหนักด้วย แม้ว่าจะเป็นกระบะ 4 ประตูที่เน้นการโดยสารมากกว่าตัวถังรูปแบบอื่นก็ตาม

     หลังจากที่เดินทางมาสักระยะ เราแวะเปลี่ยนคนขับกันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกแรกหลังจากลองนั่งเบาะนั่งด้านหน้าก็คือ การซัพพอร์ตศีรษะกลับไม่ดีเท่ากับเบาะหลัง เพราะตัวพนักพิงศีรษะถูกออกแบบให้ร่นไปข้างหลังมากไปนิด ชวนให้นึกถึงพวกรถซี-เซกเม้นต์ ยุคปี 90 ยังไงยังงั้น

203

     เบาะนั่งฝั่งผู้ขับขี่สามารถปรับสูง-ต่ำได้ แต่เมื่อลองปรับลงสุดก็ยังถือว่าสูงไปนิด แต่ถ้าคุณผู้อ่านชอบปรับเบาะนั่งให้สูงอยู่แล้ว น่าจะไม่มีปัญหาจุดนี้ ขณะที่เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารถูกเซ็ทมาให้สูงกว่าชัดเจน แถมไม่สามารถปรับสูง-ต่ำได้เหมือนฝั่งคนขับ แต่พื้นที่เหนือศีรษะก็ยังเหลือสำหรับผู้เขียนที่มีความสูง 173 เซนติเมตร

     อัตราเร่งของ Foton Tunland ถือว่าเป็นไปตามความคาดหวังจากเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร แต่ด้วยบอดี้ที่ค่อนข้างหนัก ทำให้การออกตัวดูค่อนข้างสุภาพ ไม่พุ่งปรู๊ดปร๊าดแบบคู่แข่งบางยี่ห้อ การทำงานของเทอร์โบจะต้องรอรอบประมาณ 2,000 รอบขึ้นไป จึงจะเรียกแรงบิดให้รถพุ่งไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่

238

     ด้านช่วงล่างของ Tunland ถือว่าให้ความหนักแน่นในช่วงความเร็วไม่เกิน 100-110 กม./ชม. แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงกว่านั้น จะเริ่มรู้สึกมีอาการโหวงบ้าง แต่ก็ยังถือว่าควบคุมได้ ขณะที่พวงมาลัยให้ความรู้สึกหนักในช่วงความเร็วต่ำหรือจอดนิ่งกับที่ แต่เมื่อขับด้วยความเร็วสูงกลับให้ความรู้สึกเบาไปนิด จนทำให้รู้สึกไม่มั่นใจเท่าที่ควร แต่กระนั้น หากคุณใช้ความเร็วตามกฎหมายไม่เกิน 120 กม./ชม. แล้วล่ะก็ ช่วงล่างของรถคันนี้ก็ถือว่าไว้ใจได้ดีทีเดียว

     การเก็บเสียงของ Tunland ทำได้ดีเช่นกัน โดยในความเร็วสูงจะมีเสียงจากช่วงล่างเข้ามาบ้าง แต่สำหรับเสียงลมที่เคลื่อนผ่านตัวถังรถกลับเล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสารได้น้อย ยังคงสนทนาภายในรถได้อย่างสบาย

240

     ถึงแม้ว่ารถคันนี้จะถูกติดตั้งเกียร์ธรรมดาแบบ 5 จังหวะ ซึ่งหลายค่ายหันไปเล่นเกียร์แบบ 6 จังหวะกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ก็ถือว่ารองรับกับเครื่องยนต์ 2.8 ลิตรได้ดี ด้วยการเซ็ทอัตราทดเกียร์และเฟืองท้ายให้เหมาะสมทั้งการใช้งานในเมืองและนอกเมือง โดยที่ความเร็ว 120 กม./ชม. จะใช้รอบเครื่องยนต์ประมาณ 2,250 รอบต่อนาที (ตามหน้าปัด) สามารถเดินทางไกลได้โดยไม่ต้องเค้นรอบให้เหนื่อยแต่อย่างใด

     สรุป ว่ากันตามจริง Foton Tunland ถือเป็นรถกระบะที่มีสมรรถนะไม่ทิ้งห่างจากคู่แข่งในตลาดเลย แต่ยังมีหลายสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับคนไทยมากกว่านี้สักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์ การตกแต่งภายในให้ดูหรูหราสมราคาเพื่อลบภาพความเป็นรถจีนราคาถูกให้หมดสิ้น ที่สำคัญก็คือความทนทานที่ต้องดูกันไปยาวๆ และบริการหลังการขายที่ต้องจริงจังและจริงใจ เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวไทยครับ

 

211

ราคาจำหน่าย Foton Tunland Double Cab 2017 มีดังนี้

- Double Cab Standard 2WD ราคา 681,700 บาท
- Double Cab High Standard 2WD (ยกสูง) ราคา 729,900 บาท
- Double Cab High Premium 2WD (ยกสูง) ราคา 759,900 บาท
- Double Cab 4WD ราคา 826,200 บาท

 

ขอขอบคุณ บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ทุกท่าน ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

 

อัลบั้มภาพ 47 ภาพ

อัลบั้มภาพ 47 ภาพ ของ รีวิว Foton Tunland 2017 ใหม่ มีดีกว่าที่คิด.. แต่ยังต้องปรับปรุงอีกหน่อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook