8 สัญลักษณ์บนหน้าปัดรถที่คุณอาจไม่รู้ความหมาย

8 สัญลักษณ์บนหน้าปัดรถที่คุณอาจไม่รู้ความหมาย

8 สัญลักษณ์บนหน้าปัดรถที่คุณอาจไม่รู้ความหมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      ผู้ขับขี่ทุกคนควรรู้จักและเข้าใจความหมายของสัญญาณเตือนบนหน้าปัดรถ เพราะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติของตัวรถ เพื่อที่จะรับมือแก้ไขปัญหาก่อนลุกลามบานปลายได้ แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสัญลักษณ์บนหน้าปัดว่าหมายถึงอะไรกันแน่

      Sanook! Auto จึงขอแนะนำ 8 สัญลักษณ์พื้นฐานบนหน้าปัดรถ จะได้รู้ความหมายที่แท้จริงกัน

102

1.ไฟเตือนระบบเบรก

      หากสัญญาณไฟเตือนระบบเบรกสว่างขึ้น แสดงว่าเบรกมือกำลังทำงานอยู่ แต่หากปลดเบรกมือลงแล้วสัญญาณไม่ดับหรือกระพริบต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่าน้ำมันเบรกพร่องเกินระดับปกติ รวมถึงอาจเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบป้องกันล้อล็อค (ABS - Anti-lock Brake System) ในกรณีที่ใช้สัญญาณเตือนร่วมกัน

 

101

2.ไฟเตือนรูปแบตเตอรี่

      หลายคนเข้าใจว่าหากสัญญาณเตือนรูปแบตเตอรี่สว่างขึ้น แสดงว่าแบตเตอรี่ใกล้หมด แต่แท้จริงแล้วสัญญาณดังกล่าวบ่งบอกว่าไดชาร์จไม่ทำงาน ซึ่งจะทำให้ระดับไฟในแบตเตอรี่ลดลงอย่างช้าๆ จนเครื่องยนต์ดับลงในที่สุด ทางที่ดีหากสัญญาณเตือนรูปแบตเตอรี่สว่างขึ้น ควรรีบนำรถไปยังศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันรถตายกลางทาง

 

103

3.ไฟหัวเผาเครื่องยนต์ดีเซล

      รถเครื่องยนต์ดีเซลจะมีสัญลักษณ์รูปขดลวด ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อบิดกุญแจไปยังตำแหน่ง 'ON' ก่อนที่จะสตาร์ทเครื่องยนต์ หากเป็นเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่าที่มีปัญหาสตาร์ทติดยาก สามารถบิดกุญแจไปตำแหน่ง 'ON' เพื่อให้ระบบเผาหัวทำงานประมาณ 1-2 ครั้ง จะช่วยให้เครื่องยนต์สตาร์ทติดได้ง่ายขึ้น

 

106

4.ไฟเตือนระบบควบคุมการทรงตัว

      รถยนต์ทุกคันที่ติดตั้งระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว จะตั้งค่าเริ่มต้นให้ระบบทำงานทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องยนต์ หากปิดระบบดังกล่าว สัญญาณเตือนรูปรถส่ายไปมาจะสว่างขึ้น เพื่อแจ้งให้ทราบว่าระบบปิดการทำงานอยู่ ซึ่งระหว่างนี้หากรถมีอาการเสียหลัก ระบบจะไม่ช่วยควบคุมการทรงตัวของรถแต่อย่างใด

      นอกจากนั้น สัญญาณเตือนดังกล่าวอาจกระพริบในขณะขับรถบนทางเปียก แสดงว่าระบบกำลังช่วยควบคุมเสถียรภาพการขับขี่อยู่ ซึ่งผู้ขับเองอาจไม่รู้สึกว่าระบบกำลังทำงานก็เป็นได้

 

104

5.ไฟเตือนแรงดันน้ำมันเครื่อง

      หากไฟเตือนแรงดันน้ำมันเครื่องสว่างขึ้น แสดงว่าปริมาณน้ำมันเครื่องในห้องเครื่องยนต์อยู่ในระดับต่ำเกินไป ควรจอดรถเช็คระดับน้ำมันเครื่องให้เร็วที่สุด หากน้ำมันเครื่องพร่องจริง ก็ควรเติมทันทีอย่างน้อย 1 ลิตร หรือจนกว่าสัญญาณจะดับลง แต่หากน้ำมันเครื่องยนต์อยู่ในระดับปกติอยู่แล้ว อาจเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับปั๊มน้ำมันเครื่องหรือมีการอุดตันของน้ำมันในระบบได้

 

100

6.ไฟเตือนระบบถุงลมนิรภัย

      ปกติไฟเตือนระบบถุงลมนิรภัยจะสว่างขึ้นเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ และจะดับไปหลังจากเครื่องยนต์ติดไม่นาน แต่หากสัญญาณไฟยังสว่างอยู่ แสดงว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับถุงลมนิรภัย หากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ถุงลมไม่พองตัว จึงควรนำรถเข้าเช็คเมื่อมีโอกาส

 

105

7.ไฟเตือนระบบพวงมาลัยไฟฟ้า

      รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ติดตั้งระบบพวงมาลัยไฟฟ้า จะมีสัญญาณเตือนรูปพวงมาลัย หรือ PS หรือ EPS ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อเกิดความผิดปกติของระบบ โดยมากมักจะสว่างขึ้นควบคู่ไปกับอาการพวงมาลัยหนัก แสดงว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไฟหรือมอเตอร์พวงมาลัย ควรประคองรถเข้าศูนย์หรือใช้บริการรถยกเพื่อแก้ไขปัญหา

 

110

8.ไฟเตือนความร้อนสูง

      ในรถรุ่นใหม่ที่ไม่มีเข็มวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้นั้น จะมาพร้อมสัญลักษณ์รูปเทอร์โมมิเตอร์สีแดง ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อเครื่องยนต์เกิดอาการโอเวอร์ฮีท ความร้อนขึ้นสูง หากสัญญาณไฟดังกล่าวสว่างขึ้น ให้รีบจอดรถเข้าข้างทางทันที่ก่อนเครื่องยนต์น็อค ดับเครื่องยนต์ รอจนกว่าเครื่องยนต์จะเย็นลงแล้วจึงเช็คระดับน้ำหม้อน้ำ หากน้ำแห้ง ให้เติมจนถึงระดับแล้วจึงขับขี่ต่อ แต่หากรถยังคงมีอาการโอเวอร์ฮีทอีก แสดงว่าเกิดการรั่วในระบบน้ำหล่อเย็น

      นอกจากนั้น ผู้ขับขี่ไม่ควรวางสิ่งของใดๆ บนแผงหน้าปัด เพราะอาจบดบังสัญญาณเตือนเหล่านี้ จนทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook