ขับรถความเร็วเท่าไหร่...ไม่โดนจับ

ขับรถความเร็วเท่าไหร่...ไม่โดนจับ

ขับรถความเร็วเท่าไหร่...ไม่โดนจับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลายครั้งที่ผู้ขับขี่รถยนต์ในบ้านเรา เกิดข้อสงสัยกันว่า จริงๆแล้วความเร็วสูงสุดตามที่กฏหมายกำหนดอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่

     วันนี้ Sanook!Auto ขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับความเร็วสูงสุดตามกฏหมายครับ


     อัตราความเร็วตามพ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับ 8 พ.ศ. 2551 ระบุไว้ว่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ความเร็วในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

     นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 อีกหนึ่งฉบับ ที่กำหนดให้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ สามารถใช้ความเร็วบนทางหลวงชนบทได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. ขณะที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.

     นั่นหมายความว่า ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถใช้ความเร็วสูงถึง 120 กม./ชม. ได้เฉพาะบนมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี และถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เพียง 2 สายเท่านั้น


     แต่ก็มีถนนบางสายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อนุโลมให้ใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. (จากที่กำหนดไว้ 90 กม./ชม.) ซึ่งรถยนต์ในปัจจุบันสามารถทำความเร็วระดับนี้ได้สบายๆ ทำให้หลายคนเข้าใจกันไปเองว่า ถนนส่วนใหญ่จำกัดความเร็วที่ 120 กม./ชม. เมื่อถูกเรียกปรับ จึงเกิดการเข้าใจผิดกันเนื่องจากความเคยชิน

     จริงครับ ที่การขับรถด้วยความเร็ว 90 กม./ชม.นั้น อาจดูช้าเกินไปสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ ก็กำหนดความเร็วสูงสุดไว้ใกล้เคียงกับบ้านเรา หลายพื้นที่กำหนดไว้ที่ 55 ไมล์/ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับ 88 กม./ชม. เท่านั้น บางพื้นที่อาจขยับขึ้นเป็น 104 กม./ชม. หากใครฝ่าฝืนก็ต้องจ่ายค่าปรับแสนแพง ทำให้ทุกคนยอมปฏิบัติตาม

     ส่วนในบ้านเรานั้น ต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีผู้ที่ขาดความเชี่ยวชาญในการขับรถอีกมากมาย ที่เราจำเป็นจะต้องใช้ถนนร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ การจำกัดความเร็วจึงเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ดี

     หากว่าปล่อยให้ใช้ความเร็วกันตามใจชอบแล้ว คงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook