ไขปริศนา! นอนในรถอาจถึงตาย..เพราะอะไร?

ไขปริศนา! นอนในรถอาจถึงตาย..เพราะอะไร?

ไขปริศนา! นอนในรถอาจถึงตาย..เพราะอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ปัจจุบันเรามักได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับการจอดรถติดเครื่องเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้แล้วงีบหลับ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด คุณผู้อ่านสงสัยไหมครับว่า ทำไมระบบปรับอากาศจึงเป็นอันตรายเฉพาะเวลาจอดรถนิ่งๆ แต่ไม่เป็นอันตรายขณะขับขี่

     ว่าไปแล้ว หากผู้ขับขี่มีอาการง่วงซึมไม่ว่าจะขับระยะทางใกล้หรือไกล การงีบหลับซักครู่ถือเป็นทางออกที่ดีในการเดินทางต่อไปอย่างปลอดภัย แต่รู้ไหมครับว่า ระบบปรับอากาศของรถที่จอดนิ่งๆ กลับมีอันตรายกว่าขณะที่รถกำลังขับเคลื่อน ซึ่งอันตรายที่ว่านั้น ไม่ใช่จากระบบเครื่องปรับอากาศของรถยนต์โดยตรง แต่เป็นมลพิษที่ออกมาจากท่อไอเสียนั่นเอง แต่คุณผู้อ่านสงสัยหรือไม่ครับว่า ควันจากท่อไอเสียนั้นเข้ามาในห้องโดยสารได้อย่างไร..?

     เรามักเข้าใจว่าระบบปรับอากาศในรถยนต์นั้นเป็นระบบปิดและหมุนเวียนภายในห้องโดยสาร 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริง แม้เราจะกดปุ่มเพื่อให้อากาศหมุนเวียนแล้ว แต่พัดลมแอร์ก็ยังดูดอากาศภายนอกบางส่วนเข้ามา (จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงได้กลิ่นจากภายนอกเมื่อเราขับรถผ่านควันเผาเศษขยะข้างทาง) ซึ่งถ้ารถยนต์มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดนั้น พัดลมดังกล่าวก็จะดูดอากาศบริสุทธิ์เข้ามา (หรืออากาศที่ไม่อยู่ในระดับที่เป็นพิษ) ไม่ทำอันตรายต่อผู้โดยสารภายในรถ

 

     แต่ในทางกลับกัน หากจอดรถยนต์นิ่งๆแล้วปิดกระจกหน้าต่างทึบทั้ง 4 บาน พร้อมทั้งสตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดแอร์ทิ้งไว้ ก็จะกลายเป็นสาเหตุให้อากาศจากท่อไอเสียโชยมายังบริเวณพัดลมแอร์ และถูกดูดเข้าไปยังห้องโดยสารทีละน้อยๆอย่างไม่รู้ตัว ทำให้ห้องโดยสารมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่เป็นพิษ โดยร่างกายจะรับสารดังกล่าวเข้าไปทีละน้อยจนเป็นเหตุให้ขาดออกซิเจน เป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

     ทางที่ดี หากรู้สึกมีอาการง่วงซึมขณะขับรถ ก็ควรจะจอดแวะล้างหน้าล้างตา หรือดื่มกาแฟ หรือถ้าต้องการงีบหลับในรถยนต์ ก็ควรจอดรถในที่ที่ปลอดภัย เช่น ปั๊มน้ำมันหรือที่ที่มีคนพลุกพล่าน จากนั้นให้ดับเครื่องยนต์แล้วใช้วีธีแง้มกระจกลงเล็กน้อยทั้งสี่บาน เพื่อให้มีอากาศถ่ายเท และควรล็อครถไว้เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดี ทางที่ดีควรตั้งเวลาปลุกไว้ประมาณ 10-15 นาที ซึ่งน่าจะเพียงพอแล้วเพื่อให้หายอ่อนเพลีย และพร้อมจะเดินทางต่อไปโดยสวัสดิภาพ

     เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับเทคนิคดีดีที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการเดินทางไกลของคุณผู้อ่าน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ครับ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook