กรมขนส่งทางบกเคาะ 4 โรคไม่ควรขับรถ

กรมขนส่งทางบกเคาะ 4 โรคไม่ควรขับรถ

กรมขนส่งทางบกเคาะ 4 โรคไม่ควรขับรถ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มเสี่ยง ต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ ก่อนขอรับ หรือต่อใบอนุญาต ขับรถ  โดยเตรียมจัดสัมมนาแพทย์ทั่วประเทศ ทำความเข้าใจการตรวจวินิจฉัย ก่อนออกใบรับรองแพทย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


     นายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพ เพื่อออกใบรับรองแพทย์ สำหรับผู้ขอรับ และต่ออายุใบอนุญาตขับรถ  มีมติเห็นชอบ ให้กำหนดกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดอันตราย จากการขับรถไว้ 4 กลุ่ม

     ได้แก่ ผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้  ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง  ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน  และผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือผ่านการผ่าตัดหัวใจ หรือขยาย เส้นเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นความเจ็บป่วย ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ  ยกเว้นผู้ที่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์
 
     ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ตัดโรคเท้าช้าง โรคเรื้อน และวัณโรค ออกจากใบรับรองแพทย์  เพราะเป็นโรคที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากการมองเห็นในเบื้องต้น  และปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ในการตรวจรักษาพัฒนาขึ้นมาก ทำให้โรคดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถอีกต่อไป
 
     ส่วนในกรณีของผู้ป่วยด้วยวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน  การติดยาเสพติดให้โทษ  และอาการของโรคพิษสุราเรื้อรังนั้น  ในระยะแรก ยังให้คงไว้ ในใบรับรองแพทย์ก่อน  โดยแพทยสภาจะประกาศกำหนดรูปแบบใบรับรองแพทย์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะเร่งปรับแก้ไขกฎระเบียบ และออกประกาศบังคับใช้ และในระยะต่อไป กรมการขนส่งทางบกและแพทยสภาจะร่วมกันหาข้อสรุป  ในกรณีผู้ป่วยด้วยวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนในระดับอาการต่างๆ  รวมทั้งกรณีผู้ขับรถสูงอายุ และโรคติดต่อร้ายแรง ที่มีผลกระทบ ต่อการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นในใบรับรองแพทย์ด้วย
 
     รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยด้วยว่า ใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบการขอรับและต่อใบอนุญาตขับรถนั้นส่วนหนึ่งจะกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ต้องรับรองประวัติการเจ็บป่วย และการรักษาของตนเอง  ซึ่งหากผู้ขอรับใบอนุญาตให้ข้อมูลเท็จ จะถือเป็นความผิด  มีบทลงโทษตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
 
     และอีกส่วนหนึ่งแพทย์ผู้ตรวจต้องซักประวัติเพิ่มเติม และตรวจร่างกายเบื้องต้น  ก่อนออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภา จะจัดสัมมนาแพทย์ทั่วประเทศพร้อมแจกคู่มือแพทย์ประกอบการตรวจวินิจฉัยการออกใบรับรองแพทย์สำหรับผู้ขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถ  เพื่อให้แพทย์ผู้ตรวจใช้ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน

 

     ที่มา VoiceTV   ภาพ กรมการขนส่งทางบก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook