Nissan March ตัวจริงอีโคคาร์...

Nissan March ตัวจริงอีโคคาร์...

Nissan March ตัวจริงอีโคคาร์...
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นิสสัน มาร์ช รถอีโคคาร์คันแรกของเมืองไทย ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกในบ้านเรา ก่อนจะถูกผลิตและส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย และอีกหลาย ๆ ทวีป ภายใต้ชื่อ NISSAN MARCH และ NISSAN MICRA และก่อนจะไปถึงช่วงทดสอบของเราในฉบับนี้ เราลองมาย้อนกลับไปดูถึงจุดกำเนิดของอีโค คาร์คันนี้ ซึ่งคงจะต้องย้อนกลับไปดูกันตั้งแต่แรกเริ่มที่ทางค่ายนิสสันเริ่มมีโครงการผลิตรถเล็กในชื่อของ MARCH และ MICRA ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นและอีกหลาย ๆ ประเทศ ตั้งแต่เมื่อปี 1982 ในโมเดลแรก ภายใต้รหัสตัวถัง K10 ที่ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนมาถึงในรุ่นปัจจุบัน (.. 2010) ที่ใช้รหัสตัวถัง K13 อันเป็นการเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในบ้านเรา ภายใต้ชื่อโครงการอีโคคาร์ โครงการที่คนในบ้านเราเฝ้าติดตามข่าวความเคลื่อนไหวกันมาโดยตลอด ด้วยวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งใจจะให้มีรถยนต์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ที่อยากจะได้รถยนต์ที่มีระดับราคาไม่สูงมากนัก และยังให้ความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีไปพร้อม ๆ กัน

นิสสัน มาร์ช ได้รับการออกแบบภายใต้โจทย์ที่เน้นไปในเรื่องของการตอบสนองการใช้งานขับขี่ในชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสะดวกสบายมากที่สุด เริ่มแรกกันที่การออกแบบขนาดของตัวรถที่ไม่ให้ใหญ่โตจนเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับการขับขี่ใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องตัว แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งขนาดห้องโดยสารที่กว้างขวาง สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวน 4-5 คนได้อย่างสบาย ผสานกับชุดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ได้รับการติดตั้งเอาไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ขับขี่และคนนั่ง ที่ต้องการจะใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน จนเป็นผลพวงของรุ่นที่ออกจำหน่ายที่มีให้เลือกมากถึง 6 รุ่น โดยจะมีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ระบบเกียร์ ไปจนถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกก็จะแตกต่างกันออกไปตามรุ่น ตามความต้องการของผู้บริโภคที่มักจะไม่เหมือนกัน

 

ไม่ใช่ 4..? ไม่ใช่ 5..? แต่มีเพียงแค่ 3 เท่านั้น...!

ขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนของนิสสัน มาร์ช นั้น เป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์บล็อกใหม่ล่าสุดในรหัส HR 12DE ที่เป็นเครื่องยนต์แบบ 3 สูบ แถวเรียง DOHC 12 วาล์ว (คิดแล้วก็เท่ากับ 4 วาล์วต่อสูบ เหมือนเช่นรถอื่น ๆ เพียงแค่ มาร์ช นั้นมีแค่ 3 สูบ เลยมีแค่ 12 วาล์ว) ถึงแม้จะมีความจุเครื่องยนต์เพียงแค่ 1.2 ลิตร แต่ก็ครบถ้วนไปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น ระบบควบคุมวาล์วแบบแปรฝัน (CVTC - Continuously Variable-valve Timing Control) ที่ช่วยทำหน้าที่ปรับระยะการเปิด-ปิด วาล์วให้มีความเหมาะสมตามรอบเครื่องยนต์ อันเป็นที่มาของกำลังแรงม้าทั้ง 79 ตัว กับแรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-. ที่มีพร้อมให้ใช้ในรอบเครื่องยนต์เพียงแค่ 4,400 รอบ/นาที เท่านั้น เพียงพอที่จะพาตัวถังของนิสสัน มาร์ช ที่หนักเพียงแค่ 965 กก. ให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างคล่องแคล่ว เหมาะสมกับบุคลิกของรถใช้งานในเมือง (ซิตี้คาร์) โดยทำงานร่วมกับระบบส่งกำลังที่มีให้เลือกอยู่ 2 แบบหลัก ๆ นั่นก็คือ แบบเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งในระบบเกียร์ธรรมดาจะเป็นชุดเกียร์แบบ 5 สปีด ที่เซ็ตอัตราทดมาให้สามารถขับขี่ได้อย่างสนุกและคล่องตัว และเมื่อบวกกับน้ำหนักของแป้นคลัตช์ที่เบาสบาย ผสานกับน้ำหนักคันเกียร์ที่เบาและง่ายต่อการปรับเปลี่ยนจังหวะเกียร์ นอกจากนี้หากใครที่รักในความสบายในการขับขี่ นิสสัน มาร์ช ยังมีรุ่นเกียร์อัตโนมัติมาไว้รองรับความสบายอีก 1 แบบ ที่สามารถแบ่งรุ่นออกไปได้ถึง 4 ตัวเลือกตามความต้องการของผู้ใช้ ด้วยออปชั่นที่ให้มานั้น จะมีให้เลือกตามระดับความต้องการ อันมีผลโดยตรงกับระดับราคาที่เริ่มต้นตั้งแต่ 4 แสนกว่า ๆ ไปจนถึงตัวท็อปสุดที่ 537,000 บาท โดยในรุ่นเกียร์อัตโนมัตินี้ ชุดเกียร์ที่ถูกนำมาใช้งานควบคู่กับเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร กลับตกเป็นหน้าที่ของชุดเกียร์อัตโนมัติแบบ XTRONIC CVT ที่ทางนิสสันได้พัฒนาข้อดีของความนุ่มนวลในการทำงาน และความประหยัดพลังงานของชุดเกียร์แบบ CVT นี้นำมาใช้งานในรถนิสสัน มาร์ช คันใหม่

อย่าคิดว่าเครื่องยนต์ 1200 จะแรงน้อย…!

มาเริ่มแรกกันที่เจ้าตัวเกียร์ธรรมดากันก่อน เพราะด้วยระดับราคาที่เร้าใจที่สุดจากการเปิดตัวรุ่นเล็กสุดที่ต่ำลงไปเหลือ เพียงแค่สามแสนปลาย ๆ จนเป็นที่กล่าวขวัญกันมากอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคันที่เรานำมาทดสอบกันในครั้งนี้จะเป็นรุ่นท็อปสุดของเกียร์ธรรมดา ที่มีระดับราคาสูงขึ้นมาอีกนิด อยู่ที่ 425,000 บาท โดยมีความแตกต่างกันที่บรรดาอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อย่างชุดกระจกไฟฟ้า ระบบเซ็นทรัลล็อก เบาะนั่งคนขับแบบปรับสูง-ต่ำได้ และกระจกมองข้างแบบปรับไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาให้ แต่ในเรื่องของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังยังคงเหมือนกันในทั้งสองรุ่น (S และ E) ในเรื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ที่สามารถผสานการทำงานร่วมกับชุดเกียร์ธรรมดาแบบ 5 สปีด ได้เข้าขากันดี จนสามารถสร้างอัตราเร่งชนิดที่ว่าในช่วงไม่เกิน 100 รถเครื่องยนต์ใหญ่กว่าอย่างกลุ่ม 1,500 ซี.ซี. อาจมีหนาว เพราะ มาร์ช สามารถทำอัตราเร่งได้แบบหายใจรดต้นคอกันเลย

อีกทั้งน้ำหนักของคลัตช์ที่เบาสบายยังมีส่วนสำคัญที่พอช่วยให้การขับขี่ในเมืองไม่ใช่เรื่องที่เครียดจนเกินไป (แต่หากรักที่จะสบายกันแบบครบสูตรแล้ว เห็นทีจะต้องไปคบหากับเจ้าเกียร์อัตโนมัติ CVT จะดีเสียกว่า) ด้วยเครื่องยนต์ที่อาจจะดูว่าเล็กและมีจำนวนลูกสูบแค่เพียง 3 ลูก แต่ในการสร้างกำลังแล้ว มาร์ช สามารถพาเจ้าของให้พุ่งทะยานไปถึงท็อปสปีดในระดับ 170 ได้อย่างไม่ยากเย็น (แต่ก็เล่นเอาสุดรอบในเกียร์ 4 เหมือนกัน) การทรงตัวนั้น ในระดับความเร็ว 80-100 ระบบช่วงล่างที่ติดตัวมา ยังพอให้ความมั่นใจได้ จะมีความรู้สึกเบา ๆ อยู่บ้าง ในยามที่โยนโค้งเข้าไปแรง ๆ แต่นั่นก็คงจะไม่แปลกสำหรับอาการของรถซิตี้คาร์ที่มีน้ำหนักเพียงแค่ 9 ร้อยกว่า และมีหน้ายางเพียงแค่ 165 เท่านั้น

มาถึงประสิทธิภาพระบบเบรกติดรถแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม ที่ถึงแม้จะไม่มีระบบ ABS, EBD และ BA มาให้ในรุ่นนี้ แต่การทำงานนั้นก็ยังพอเชื่อมั่นได้ เพียงแค่ผู้ขับต้องทำความรู้จักกับรถให้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะการเบรกหนัก ๆ บนถนนเปียก

 

นิ่มนวล และสบาย ความสุขที่หาได้จากชุดเกียร์อัตโนมัติ CVT

มาถึงเจ้ารุ่นท็อปอย่างรุ่น VL XTRONIC CVT กันบ้าง ก็อย่างที่กล่าวกันไปแล้วว่าเป็นรุ่นท็อป งานนี้ก็เรียกได้ว่าขนกันมาเต็มที่ จนบรรดารุ่นพี่ในพิกัด 1500 อาจจะมีค้อนกันเล็ก ๆ จากออปชั่นที่ให้มาเยอะเกินคาด ตั้งแต่กุญแจประตูแบบ Intelligent Key ที่ทำงานร่วมกับระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ง่ายเพียงแค่กดปุ่ม (Push Start Button) ให้ความสะดวกยิ่งกว่าตั้งแต่เข้ารถจนถึงสตาร์ท โดยไม่ต้องหยิบกุญแจขึ้นมาเลย ซึ่งระบบกุญแจนี้ กว่าจะมีในรถพิกัด 1500 ก็ต้องปาไปในระดับราคาถึง 6 แสนแก่ ๆ นอกจากนี้ ในรุ่น VL ระบบปรับอากาศที่ติดตั้งมาให้ยังเป็นระบบปรับอากาศแบบออโต้ รูปทรงกลมติดตั้งอยู่ตรงบริเวณกึ่งกลางคอนโซล (ด้านล่างของตัววิทยุ)

โดยมีจอแสดงผลแบบดิจิตอลทำหน้าที่บอกสถานะให้เห็นอยู่ตรงกลางวงกลม นอกจากนี้ที่มาตรวัดยังมีจอมัลติฟังก์ชันที่คอยทำหน้าที่บอกสถานะการทำงานและลูกเล่นเก๋ ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ทริปวัดระยะทาง แถบเส้นบอกอัตราสิ้นเปลือง ค่าเฉลี่ยอัตราสิ้นเปลือง ลูกเล่นการตั้งวันเกิด วันครบรอบต่าง ๆ ไปจนถึงบอกสถานะของระบบ Idling Stop ระบบที่จะช่วยดับเครื่องยนต์ให้ในทันทีที่รถหยุดนิ่ง โดยการเหยียบเบรกค้างเอาไว้ ระบบก็จะดับเครื่องยนต์ และสตาร์ทให้ใหม่ในทันทีที่ปล่อยเบรก เป็นการช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการจอดรถติดนาน ๆ แต่ระบบนี้ดูอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับบ้านเราสักเท่าไหร่ เพราะในยามที่รถติดอยู่กลางสี่แยกแล้วเครื่องยนต์ดับลง นั่นหมายความว่า ระบบแอร์ก็จะไม่สามารถสร้างความเย็นต่อได้ เพราะคอมเพรสเซอร์ไม่สามารถหมุนสร้างแรงดัน (หากเป็นเมืองที่มีอากาศเย็น ระบบนี้คงช่วยให้ประหยัดได้มาก) งานนี้ถ้าเป็นตอนกลางวันแดดเปรี้ยง ๆ คิดว่าไม่เกิน 3 นาที ความร้อนก็จะเริ่มมาเยือนกันแล้ว

นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกและลูกเล่นที่ถูกใส่เข้ามาแบบครบถ้วน ในการใช้งานยังมีอีกหนึ่งฟังก์ชันที่น่าประทับใจ นั่นก็คือเจ้าชุดเซ็นเซอร์ถอยหลังแบบ 4 จุด นอกจากจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถบอกเป็นสัญลักษณ์ที่จอมัลติฟังก์ชันนอกเหนือเสียงเตือนได้อีก แต่ก็มีเรื่องน่าติอยู่นิดก็ตรงตำแหน่งติดตั้งเจ้าเซ็นเซอร์คู่นอกสุดนั้น มันดันไปอยู่ตรงบริเวณมุมกันชนที่ออกแบบมาให้เป็นเสมือนคิ้วกันกระแทก ที่ดันมีเจ้าเซ็นเซอร์ไปติดตั้งอยู่ในตำแหน่งนั้น และมิหนำซ้ำยังมากันในแบบสีดำ ๆ ไม่ใช่สีเดียวกับตัวรถเสียอีก

กลับมาที่เรื่องของสมรรถนะกันบ้าง ที่ถึงแม้ในรุ่น VL จะเป็นระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ CVT แต่ในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานนั้น เจ้า CVT ชุดนี้สามารถรองรับการใช้งานของผู้ขับขี่ได้อย่างเหลือเฟือ เพราะให้ทั้งอัตราเร่งที่ดีในช่วงต้น (ยิ่งในช่วง 0-100 นั้น นับได้ว่าใกล้เคียงกับตัวเกียร์ธรรมดามาก) ไปจนถึงความนุ่มนวลและความต่อเนื่องในการปรับเปลี่ยนจังหวะเกียร์ อันเป็นคุณสมบัติที่ดีอยู่แล้วของชุดเกียร์แบบ CVT โดยเกียร์ตัวนี้ยังผสานการทำงานกับเครื่องยนต์ 1,200 ซี.ซี. ที่ติดตัวมาได้อย่างลงตัว จนสามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากถึง 165 กม./ชม. เลยทีเดียว

ในด้านของความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น นิสสัน มาร์ช สามารถให้ความประหยัดสำหรับการขับขี่ใช้งานในเมืองได้มากถึง 13.9 กม./ลิตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ และ 13.63 กม./ลิตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา มาถึงตรงนี้จะเห็นถึงความแตกต่างที่อาจจะดูแปลกไปสักนิด ตรงที่ทำไมเกียร์ธรรมดากลับกินน้ำมันมากกว่าเจ้าเกียร์อัตโนมัติ ทั้งที่โดยปกติแล้ว เกียร์ธรรมดามักจะได้เปรียบกว่าเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งคำตอบที่พอจะอธิบายเรื่องนี้ได้ก็อยู่ตรงที่รอบการทำงานของเครื่องยนต์ ในความเร็วเท่า ๆ กันนั้น เกียร์ธรรมดาจะมีรอบเครื่องยนต์ที่สูงกว่ามาก อย่างเช่นที่ความเร็ว 100 เกียร์อัตโนมัติจะมีรอบเครื่องยนต์อยู่เพียงแค่ 1,900 รอบ ในขณะที่เกียร์ธรรมดาจะมีรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นไปถึง 3,000 รอบ และจากรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำแค่ 1,900 รอบนี้เอง ที่ช่วยทำให้ มาร์ช สามารถเดินทางไกลได้สะดวกและประหยัด จากผลการทดสอบของการเดินทางที่ความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองสามารถมาอยู่ที่ 15.4 กม./ลิตร

 

 

จากการทดสอบจะพบว่า หากผู้ขับสามารถเดินทางไกลด้วยความเร็วแถว 70-80 กม./ชม.ได้นั้น ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ว่า 20 กม./ลิตร คงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินจะทำได้ นับว่า มาร์ช สามารถตอบสนองกับการใช้งานภายในเมืองได้อย่างลงตัว รวมไปถึงการเดินทางข้ามเมืองนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างสบาย ๆ เพียงแต่ผู้ขับต้องเรียนรู้ และทำความรู้จักกับรถมาร์ชสักนิดก่อนว่า ด้วยคอนเซ็ปต์ของอีโคคาร์นั้น มันสามารถให้อะไรได้มากน้อยเพียงใด หากไม่นำไปใช้งานเกินลิมิตหรือผิดไปจากคอนเซ็ปต์ของมันแล้วล่ะก็ มาร์ช ก็พร้อมที่จะตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว กับรถเล็กที่มีให้เลือกใช้ตั้งแต่ระดับราคา 3 แสนปลาย ไปจนถึง 5 แสนต้น

มาถึงช่วงท้ายนี้คงต้องบอกกันว่า สำหรับใครที่กำลังตัดสินใจเลือก นิสสัน มาร์ช กันอยู่ หากคุณตัดสินใจได้แล้วก็ขอให้รีบดำเนินการจองเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะข่าวมาว่าคิวของ นิสสัน มาร์ช โดยเฉพาะในรุ่นเกียร์ CVT นั้น ปาเข้าไปแถว ๆ ช่วงปีใหม่กันแล้ว และหากคุณยิ่งช้า งานนี้อาจจะมีมหกรรมรอรถข้ามปีก็เป็นได้...!

 

ความเร็วสูงสุด และรอบเครื่องยนต์ในแต่ละเกียร์ (1.2L E MT)

เกียร์ ความเร็ว รอบเครื่องยนต์

1 50 6,500

2 85 6,500

3 130 6,500

4 170 6,500

5 - -

 

ความเร็วเดินทางที่เกียร์สูงสุด (1.2 L E MT)

ความเร็ว (กม./ชม.) รอบ (รอบ/นาที)

100 3,000

120 3,600

140 4,200

160 4,800

 

ความเร็วเดินทางที่เกียร์สูงสุด (1.2L VL XTRONIC CVT)

ความเร็ว (กม./ชม.) รอบ (รอบ/นาที)

100 1,900

120 2,600

140 3,400

160 5,000

 

 

ข้อมูลทางเทคนิค

ยี่ห้อและรุ่นรถ NISSAN MARCH

ประเทศผู้ผลิต และรุ่นปี ประเทศไทย รุ่นปี 2010

รุ่น 1.2L E MT 1.2L VL XTRONIC CVT

แบบเครื่องยนต์ 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว CVTC-Continuously Variable-valve Timing Control

ปริมาตรความจุ (ซี.ซี.) 1,198

กระบอกสูบ x ระยะชัก (มม.) 78.0 x 83.6

ระบบควบคุมเครื่องยนต์ หัวฉีดมัลติพอยต์ ECCS 32 บิต

กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบ/นาที) 79/6,000

แรงบิดสูงสุด (กก.-./รอบ/นาที) 10.8/4,400

อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1

ถังเชื้อเพลิงจุ (ลิตร) 41

ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า

ระบบเกียร์ (รหัส) เกียร์ธรรมดา 5 สปีด เกียร์อัตโนมัติ (XTRONIC CVT)

อัตราทดเกียร์ 1 3.727 : 1 4.006 – 0.550

2 2.048 : 1

3 1.393 : 1

4 1.029 : 1

5 0.821 : 1

เกียร์ถอยหลัง 3.546 : 1 3.770 : 1

อัตราทดเฟืองท้าย 4.067 : 1 3.753 : 1

ระบบพวงมาลัย แร็ค แอนด์ พิเนี่ยน พร้อมเพาเวอร์ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า (EPS)

รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด (เมตร) 4.5

ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แบบแม็คเฟอร์สัน สตรัท

ระบบกันสะเทือนหลัง แบบทอร์ชั่น บีม

ระบบเบรก หน้า/หลัง ดิสก์เบรก/ดรัมเบรก

มิติ กว้าง x ยาว x สูง (มม.) 1,665 x 3,780 x 1,515

ฐานล้อยาว (มม.) 2,450

ความกว้างของล้อหน้า (มม.) 1,470

ความกว้างของล้อหลัง (มม.) 1,475

น้ำหนักรถ (กก.) 915 965

ล้อ ล้อเหล็ก 5.5J x 14” พร้อมฝาครอบ ล้ออัลลอย ขนาด 5.5J x 15”

ยาง 165/70R14 175/60R15

อัตราความสิ้นเปลือง (กม./ลิตร)

ในเมือง 13.63 13.9

นอกเมือง - 15.4

ราคาจำหน่าย 425,000 บาท 537,000 บาท

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook