5 เทคนิคซื้อรถใหม่ตาม 'รายได้' ของตัวเอง

5 เทคนิคซื้อรถใหม่ตาม 'รายได้' ของตัวเอง

5 เทคนิคซื้อรถใหม่ตาม 'รายได้' ของตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'รถยนต์' ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของใครหลายคนไปแล้ว ซึ่งในตลาดบ้านเราก็มีรุ่น-ยี่ห้อให้เลือกมากมายหลายราคา ตั้งแต่ไม่กี่แสนบาท ไปจนถึงหลายล้านบาท

     แต่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ ก็คงหนีไม่พ้น 'รายได้' ในแต่ละเดือนของเรา แล้วจะมีวิธีเลือกรถอย่างไรให้เหมาะสมกับรายได้เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนสูงเกินไป จนกระทบกับชีวิตประจำวัน

 

      Sanook! Auto ขอแนะนำวิธีเลือกรถป้ายแดงให้เหมาะสมกับรายได้ ดังนี้


      1. เช็ครายรับต่อเดือน

      หากใครซื้อรถเงินสดได้ก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากใครจำเป็นต้องผ่อนส่งแล้วล่ะก็ เช็คให้ดีก่อนว่ารายรับที่แน่นอนในแต่ละเดือนมีจำนวนเท่าไหร่ รายจ่ายแต่ละเดือนมีเท่าไหร่ ทั้งค่าห้อง ค่าบัตรเครดิต ค่าไฟ ค่าน้ำ ล้วนแล้วแต่เป็นรายจ่ายทั้งสิ้น จากนั้นจึงคิดเป็นตัวเลขว่าแต่ละเดือนมีเงินเหลือเป็นจำนวนเท่าใด

 

      2. ค่างวดควรเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ (คำนวณสินเชื่อ คลิก)

      โดยปกติแล้วหลักการคร่าวๆในการพิจารณาสินเชื่อรถยนต์ของไฟแนนซ์ ค่างวดในแต่ละเดือน ต้องไม่สูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สุทธิ ดังนั้น หากเราได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท ค่างวดรถต้องไม่เกิน 15,000 บาท (โดยประมาณ) จึงจะมีโอกาสได้รับอนุมัติ

      แต่!

      หากเงินเดือนของคุณไม่สูงมากนัก เราขอแนะนำให้ค่างวดรถยนต์แต่ละเดือนควรเป็น 1 ใน 3 ของรายรับจะดีกว่า เพราะยังมีค่าใช้จ่ายตามมาหลังครอบครองรถยนต์อีกเพียบ ทั้งค่าน้ำมัน, ค่าบำรุงรักษาตามระยะ, ค่าประกันภัย, ค่าต่อภาษี เป็นต้น

 

      3. เลือกรถให้เหมาะกับการใช้งาน

      ควรเลือกรถยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันที่สุด เช่น หากเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป ใช้งานในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ รถยนต์ขนาดซับคอมแพ็ค หรือ คอมแพ็คคาร์ ก็คงจะเพียงพอ อยากได้ตัวถังแบบ 4 ประตู หรือ 5 ประตูก็ตามแต่สะดวก

     แต่หากเป็นเจ้าของธุรกิจประเภท SME ที่ต้องบรรทุกสินค้าเป็นประจำนั้น รถกระบะหรือรถอเนกประสงค์แบบเอ็มพีวี ก็ดูจะเข้าท่ามากกว่า ซึ่งปัจจุบันก็มีตัวเลือกมากมาย เหมาะกับทั้งใช้งานและใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไม่ต้องอายใคร

 

      4. พลังงานทางเลือกมีมากมาย

      รถยนต์ในตลาดปัจจุบันต่างก็มีพลังงานทางเลือกให้ใช้อย่างมากมาย ทั้งเชื้อเพลิง E20, E85, NGV/CNG หรือหรูหน่อยก็เป็นพวกกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ซึ่งปัจจุบันมีเวอร์ชั่นเสียบปลั๊กให้เลือกกันแล้ว ซึ่งพลังงานทั้งหลายเหล่านี้ก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป เช่น

      E20 - ให้สมรรถนะใกล้เคียงน้ำมันเบนซิน และแก็สโซฮอล์ (E10) ปกติ แต่ราคาอาจไม่หนีกันมาก
      E85 - ราคาถูกกว่าเห็นๆ แต่ก็สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าน้ำมัน E20 หรือสูงกว่า อยู่พอสมควร
      CNG - เชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดในตลาด แต่ก็แลกมาด้วยการรอคิวเติมก๊าซ แถมยังมีจำนวนสถานีน้อย
      Hybrid - ประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องยนต์ปกติชัดเจน แต่ราคาค่าตัวยังสูงเกินไป

     แม้ว่าจะซื้อรถมาเพื่อติดตั้งระบบ LPG ในภายหลัง ซึ่งมีราคาเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับ CNG แถมยังหาปั๊มได้ง่ายกว่า แต่ก็เสี่ยงกับมาตรฐานการติดตั้ง รวมถึงหลุดการรับประกันจากศูนย์อีกต่างหาก แม้ว่าพลังงานทางเลือกทั้งหลายเหล่านี้ ช่วยให้ประหยัดเงินในกระเป๋าขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นกับความเหมาะสมในการใช้งานและเงินในกระเป๋าของแต่ละคนด้วย ควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ

 

      5. สะสมเงินจำนวนเท่าค่างวดให้ได้ติดต่อกัน 3 เดือน

      หลังจากประเมินรายรับ-รายจ่ายของตัวเองในแต่ละเดือนแล้ว ขั้นตอนนี้ถือเป็นการสอบปฏิบัติก่อนวางเงินจอง ด้วยการเก็บเงินให้เท่ากับค่างวดที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือน โดยไม่นำมาใช้จ่ายเลย หากระหว่าง 3 เดือนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแล้วล่ะก็ วางเงินจองได้เลย! แถมยังมีเงินเหลือเอาไปโปะดาวน์เพิ่ม หรือเก็บไว้เป็นค่างวดยามฉุกเฉินได้อีกต่างหาก

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook