โตโยต้าคาดตลาดรถปีนี้ 6 แสนคัน

โตโยต้าคาดตลาดรถปีนี้ 6 แสนคัน

โตโยต้าคาดตลาดรถปีนี้ 6 แสนคัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โตโยต้าเชื่อราคาสินค้าเกษตร การฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาตรการภาครัฐ ดันตลาดรถยนต์รวมปีนี้โต 9% ทะลุ 6 แสนคัน ตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งตลาด 42%



นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ปี 2552 ที่ผ่านมา มียอดขายรวม 5.48 แสนคัน ลดลง 10.8% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 2.3 แสนคัน เพิ่มขึ้น 1.4% รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 3.18 แสนคัน ลดลง 17.9% รถปิกอัพ 1 ตัน 2.47 แสนคัน ลดลง 20.4%

"ต้นปีเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นอย่างมากของอุตสาหกรรม ยอดขายครึ่งปีแรกลดลงถึง 28% ก่อนฟื้นตัวในไตรมาส 3 และต่อเนื่องไตรมาส 4" นายทานาดะ ย้ำและว่า ปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ จะได้แรงบวกจากการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ช่วงปลายปี 2552 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิเช่น โครงการไทยเข้มแข็ง 1 และ 2 และราคาสินค้าการเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าต่างๆ จะทำให้ตลาดมียอดขาย 6 แสนคัน เพิ่มขึ้น 9% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 2.51 แสนคัน รถเพื่อการพาณิชย์ 3.49 แสนคัน และรถปิกอัพ 1 ตัน 2.72 แสนคัน

"ปิกอัพจะเป็นเซ็กเมนท์สำคัญที่ส่งผลดีต่อตลาด แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ยอดขายจะหดตัวมาก แต่เชื่อว่าในปีนี้ ตลาดรถปิกอัพจะเติบโต จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ"

ในส่วนโตโยต้า ปีที่ผ่านมา มียอดขายรวม 2.3 แสนคัน ลดลง 12.1% มีส่วนแบ่งตลาด 42% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 1 แสนคัน ลดลง 5.7% รถเพื่อการพาณิชย์ 1.29 แสนคัน ลดลง 16.4% ในจำนวนนี้เป็นรถปิกอัพ 1 ตัน 1.02 แสนคัน ลดลง 19.8%

ส่วนปีนี้โตโยต้า ตั้งเป้าการขาย 2.57 แสนคัน เพิ่มขึ้น 11.5% มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 42.8% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 1.11 แสนคัน รถเพื่อการพาณิชย์ 1.46 แสนคัน แบ่งเป็นรถปิกอัพ 1 ตัน 1.14 แสนคัน สำหรับตลาดต่างประเทศปีที่ผ่านมา โตโยต้าส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 2.37 แสนคัน ลดลง 24% มูลค่า 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ มีมูลค่า 4.84 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.52 แสนล้านบาท

นายนินนาท ไชยธีระภิญโญ รองประธานกรรมการบริหาร กล่าวถึง กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้นำเรื่องการของดเว้นการเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ไฮบริด 6 รายการ ซึ่งยังไม่มีการผลิตในประเทศที่บริษัทเสนอผ่านกระทรวงการคลัง กลับมาพิจารณาใหม่เป็นแพ็คเกจเดียวกันกับรถยนต์ประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกทั้งหมด อาทิเช่น อีโคคาร์ หรือแก๊สโซฮอล์ อี 85 โดย 3 กระทรวง คือ พลังงาน คลังและอุตสาหกรรมนั้น โตโยต้าเห็นว่าการนำกลับมาพิจารณาใหม่ อาจหมายถึง การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องใหญ่และใช้เวลานาน ทั้งที่โครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเหมาะสมแล้ว

"รถไฮบริด มีมูลค่าสูงกว่ารถประเภทอื่นมาก หากมีภาษีเท่ากับรถ อี 85 หรือรถประเภทอื่นๆ ก็ไม่แฟร์ ขณะนี้ ฟีดแบ็ค คัมรี่ ไฮบริด ดีมาก และเรารอดูการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะมีผลต่อการตัดสินใจประกอบรถไฮบริดโมเดลอื่นๆ ในอนาคต" นายนินนาทกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook