รีวิว Toyota Fortuner 2015 ใหม่ ปรับลุคโฉบเฉี่ยว เครื่องแรงหายห่วง ช่วงล่างนั่งสบาย

รีวิว Toyota Fortuner 2015 ใหม่ ปรับลุคโฉบเฉี่ยว เครื่องแรงหายห่วง ช่วงล่างนั่งสบาย

รีวิว Toyota Fortuner 2015 ใหม่ ปรับลุคโฉบเฉี่ยว เครื่องแรงหายห่วง ช่วงล่างนั่งสบาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     Toyota Fortuner 2015 เจเนอเรชั่นใหม่ ถือเป็นรถอเนกประสงค์แบบพีพีวีที่ถูกจับตามองมากที่สุด การันตีด้วยยอดจำหน่ายรุ่นที่แล้วกว่า 220,000 คัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 รวมถึงมีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกว่า 52 ประเทศทั่วโลก


     ดังนั้น Fortuner 2015 ใหม่ จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรักษาความเป็นเจ้าตลาดอีกครั้ง แต่จะทำออกมาได้ดีขนาดไหน ไปติดตามอ่านรีวิวฉบับนี้กันเลยครับ

     เป็นโอกาสอันดีที่ Sanook! Auto ได้รับเชิญเข้าร่วมทดสอบสมรรถนะของ Toyota Fortuner ใหม่ บนเส้นทางสุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต คิดเป็นระยะทางราว 300 กิโลเมตร เพื่อมาบอกเล่าประสบการณ์ให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกัน

 

     ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Fortuner เป็นรถอเนกประสงค์ที่ใช้พื้นฐานร่วมกับกระบะ Hilux Revo ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนั่นก็ถือเป็นรถกระบะที่มีสมรรถนะอยู่ในระดับต้นๆ ของเมืองไทยในปัจจุบัน ขณะที่ฟอร์จูนเนอร์ถูกออกแบบเน้นการโดยสาร ดังนั้นฟีลลิ่งที่ได้จึงค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน

     ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักฟอร์จูนเนอร์ 2015 ใหม่กันก่อนดีกว่า



     รูปลักษณ์ภายนอกของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ถูกออกแบบให้เน้นความสปอร์ตมากยิ่งขึ้น ด้วยเส้นสายที่ดูโฉบเฉี่ยวมากกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด ตัวถังถูกออกแบบให้ดูมีมิติ ลูกเล่นมากขึ้น หากดูเผินๆก็จะเห็นกลิ่นอายจากเอสยูวีหรูร่วมค่ายอย่างเล็กซัสตระกูล ‘X’ อยู่พอสมควร

     อุปกรณ์ภายนอกในรุ่น 2.8V 4WD AT ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุด มาพร้อมไฟหน้าแบบ Bi-beam LED ที่สามารถปรับไฟสูง-ต่ำด้วยชุดโคมโปรเจคเตอร์เดียวกัน ติดตั้งไฟ Daytime Running Light แบบ LED มาให้ในตัว ตกแต่งตัวโคมด้วยแถบโครเมียมด้านบน ออกแบบรับกับกระจังหน้าขนาดใหญ่สีเงิน

     กันชนหน้าถูกออกแบบให้มีลักษณะ 3 มิติ ด้วยกรอบไฟตัดหมอกโครเมียมทรงสะดุดตา พร้อมตะแกรงดักอากาศสีดำ บริเวณเหนือที่ติดตั้งป้ายทะเบียน

 

     ตัวถังด้านข้างถูกออกแบบให้ดูมีเส้นสายนุ่มนวลขึ้นกว่ารุ่นก่อน แต่ยังคงไว้ซึ่งความบึกบึน แข็งแรง ตามสไตล์รถเอสยูวี ด้วยโป่งล้อขนาดใหญ่พร้อมตกแต่งขอบซุ้มล้อด้วยสีดำ ติดตั้งกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวและ Welcome Light เพื่อความปลอดภัยยามค่ำคืน

     เสาคู่หลังถูกออกแบบให้มีลักษณะสีดำเงา กลมกลืนไปกับแนวประตูท้าย ช่วยเพิ่มความหรูหรา และยังทำให้ตัวรถดูมีขนาดใหญ่มากขึ้น ติดตั้งไฟท้ายแบบ LED ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเรียวเล็ก เพิ่มความสปอร์ตไปในตัว มาพร้อมราวหลังคาดีไซน์สปอร์ตและเสาอากาศแบบครีบฉลาม ตัวถังวางอยู่บนล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/60 R18

 

     เข้ามาภายในห้องโดยสาร สัมผัสได้ถึงความพรีเมี่ยมกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน ด้วยการตกแต่งภายในสีดำ พร้อมหนังสีชามัวร์ในรุ่นท็อป เบาะนั่งคู่หน้าทรงสปอร์ต สามารถปรับไฟฟ้าได้ 8 ทิศทางฝั่งผู้ขับ เบาะนั่งแถวที่สองสามารถปรับเอน-เลื่อนได้ พร้อมพนักพิงศีรษะ 3 ตำแหน่งปรับขึ้น-ลงได้ ติดตั้งที่วางแก้วน้ำแบบพับได้ไว้ตรงกลางเบาะ พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง

 

     เบาะนั่งแถวที่ 3 สามารถปรับพับแบบ 50:50 พร้อมปรับเอนได้ พนักพิงศีรษะมีให้ 2 ตำแหน่ง ขณะที่การพับเก็บยังคงเป็นแบบพับขึ้นแขวนไว้กับเพดานเช่นเดียวกับรุ่นก่อน

 

     คอนโซลหน้าติดตั้งเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว สามารถเล่นแผ่น DVD/MP3 ได้ พร้อมระบบนำทางและบลูทูธสำหรับการโทรศัพท์แบบไร้สาย รวมถึงสามารถดึงเพลงจากโทรศัพท์ขึ้นมาฟังในรถได้ ติดตั้งพอร์ต USB/AUX มาให้ โดย Interface ถูกออกแบบให้รองรับภาษาไทยได้เต็มรูปแบบ รวมถึงปุ่มกดสัมผัสติดตั้งรอบหน้าจอมีขนาดใหญ่

     นอกจากนั้น หน้าจอชุดนี้ยังใช้เป็นกล้องแสดงภาพขณะถอยหลัง พร้อมเส้นกะระยะช่วยในการเข้าจอด ขณะที่รุ่นล่างสุดจะถูกติดตั้งเซ็นเซอร์กะระยะมาให้แทน

     เลื่อนลงมาเป็นแผงควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ที่ให้ความเย็นรวดเร็วทันใจตามสไตล์โตโยต้า พร้อมช่องแอร์สำหรับแถวที่ 2 และ 3 ติดตั้งไว้บนเพดาน มีสวิทช์ควบคุมแยกต่างหากมาให้ด้วยบริเวณแถวที่ 2

 

     ขยับมาทางฝั่งผู้ขับจะพบกับพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 4 ก้านดีไซน์สวยงาม แผงปุ่มกดฝั่งซ้ายมือไว้ใช้ควบคุมเครื่องเสียงและโทรศัพท์ ฝั่งขวามือสำหรับควบคุมหน้าจอ MID ที่ติดตั้งบริเวณหน้าปัด พร้อมก้านควบคุมระบบครูซคอนโทรลมาให้ บริเวณหลังพวงมาลัยติดตั้งก้าน Paddle Shift สำหรับควบคุมระบบเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยมาให้ด้วย

     แผงหน้าปัดความเร็วเป็นแบบเรืองแสงสีขาว พร้อมสีเขียวอ่อนๆดูสบายตา ติดตั้งหน้าจอ Multi-information Display แบบ TFT สีขนาด 4.2 นิ้ว สำหรับแสดงข้อมูลการขับขี่, ข้อมูลการนำทาง, ระบบความบันเทิง, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ เป็นต้น

     ปุ่มสตาร์ทติดตั้งไว้บริเวณขวามือ ทำงานคู่กับกุญแจแบบ Smart Key ที่ถูกออกแบบมาสำหรับ Fortuner โดยเฉพาะ



     นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแบบ LED ที่ดูหรูหราราวกับรถยุโรปรุ่นใหม่ๆ กล่องเก็บของบริเวณคอนโซลหน้าแบบ Cool Box ที่สามารถแช่เครื่องดื่มให้มีความเย็นได้ตลอดการเดินทาง ช่องจ่ายไฟแรงดัน 12 โวลต์จำนวน 3 จุดทั้งหน้าและหลัง รวมถึงช่องจ่ายไฟ 220 โวลต์มาให้ เผื่ออยากชาร์ตแล็ปท็อป หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

 

     จุดขายของฟอร์จูนเนอร์ใหม่อย่างหนึ่งก็คือ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่เรียกว่า ∑4 (ซิกม่าโฟร์) ที่สามารถเปลี่ยนโหมดการขับขี่ได้ 3 รูปแบบ ผ่านปุ่มหมุนบริเวณคอนโซลหน้า

     ดูเผินๆแล้ว ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อในฟอร์จูนเนอร์ใหม่ อาจดูเหมือนระบบขับเคลื่อนสี่ล้อสมัยก่อนทั่วๆไป ที่มีให้เลือก 3 โหมด ได้แก่ 2H, 4H และ 4L แต่ฟอร์จูนเนอร์ใหม่มาพร้อมระบบ ‘A-TRC’ หรือ ‘Active Traction Control’ ที่ช่วยกระจายแรงบิดไปยังล้อที่สัมผัสกับพื้นถนนได้อย่างอิสระ พร้อมกับเพิ่มแรงเบรกไปยังล้อที่หมุนฟรีนั่นเอง ซึ่งหากว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ระบบที่ว่านี้ให้ประสิทธิภาพในการลุยออฟโรดมากกว่าระบบเฟืองท้ายแบบ Limited Slip หรือ Diff-Lock ด้วยซ้ำไป

     ระบบความปลอดภัยของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ มาพร้อมถุงลมนิรภัยรวมทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ทั้งคู่หน้า, ด้านข้าง, ม่านถุงลม และถุงลมหัวเข่าฝั่งผู้ขับ, ระบบเบรก ABS/EBD ระบบช่วยเบรก BA ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดทั้ง 7 ที่นั่ง, ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC, ระบบควบคุมการส่ายของเทรลเลอร์ TSC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC และระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC ฯลฯ

 

     ฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ติดตั้งเครื่องยนต์ให้เลือกทั้งหมด 3 แบบ เช่นเดียวกับรีโว่ แบ่งออกเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2 รุ่น และเบนซินอีก 1 รุ่น ดังนี้

  • เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลไดเร็คอินเจคชั่น ความจุ 2.8 ลิตร รหัส 1GD-FTV (High) แบบ 4 สูบแถวเรียง VN Turbo พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 – 2,400 รอบต่อนาที มีให้เลือกเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
  • เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลไดเร็คอินเจคชั่น ความจุ 2.4 ลิตร รหัส 2GD-FTV (High) แบบ 4 สูบแถวเรียง VN Turbo พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 – 2,000 รอบต่อนาที มีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด
  • เครื่องยนต์เบนซินความจุ 2.7 ลิตร รหัส 2TR-FE พร้อมระบบ Dual VVT-I ให้กำลังสูงสุด 166 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 245 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที มีให้เลือกเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด

 

     ช่วงล่างของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ถูกออกแบบให้รองรับการใช้งานแบบรถยนต์นั่ง ด้วยระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบอิสระปีกนกคู่ พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบโฟว์ลิงค์คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง

     ขณะที่ระบบเบรกเป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ซึ่งวิศวกรของโตโยต้าให้เหตุผลที่ยังคงเลือกใช้ระบบดรัมเบรกสำหรับล้อคู่หลังนั้น เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานในเมืองไทย ที่ต้องมีการลุยน้ำเป็นครั้งคราว หากเป็นกรณีที่น้ำกระเซ็นมาถูกระบบเบรก ฝักดรัมเบรกจะช่วยป้องกันไม่ให้จานเบรกเปียกจนเสียสมรรถนะในการลดความเร็วนั่นเอง

     อุปกรณ์มาตรฐานที่เรากล่าวไว้ทั้งหมดนี้ มีอยู่ในรุ่นท็อปสุด (2.8V 4WD AT) หากเป็นรุ่นรองก็จะติดตั้งอ็อพชั่นลดหลั่นลงมาตามแต่ละรุ่นย่อย


ภายในห้องโดยสารรุ่น 2.4V 2WD AT


     การทดสอบในครั้งนี้ เราไม่ได้ขับรุ่นท็อปสุดที่ว่ามาหรอกนะครับ แต่เป็นรุ่นล่างสุดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร พร้อมเกียร์ธรรมดา 6 สปีดเลยต่างหากล่ะ ซึ่งวินาทีแรกที่รู้ว่าต้องขับรุ่นต่ำสุดก็รู้สึกเซ็งนิดๆ เพราะตั้งใจให้คุณผู้อ่านรับทราบถึงสมรรถนะของรุ่นสูงสุดอยู่แล้ว แต่เมื่อมาลองอยู่หลังพวงมาลัยเข้าจริงๆ เรากลับรู้สึกว่าเกียร์ธรรมดา 6 สปีด กับเครื่องยนต์ 2.4 ลิตรคันนี้ มันขับสนุกจนแทบไม่อยากลงจากรถเชียวล่ะ

     สำหรับใครที่กำลังเล็งรุ่นอื่นไว้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงครับ เพราะนอกจากเครื่องยนต์กับเกียร์ และอุปกรณ์มาตรฐานที่ถูกตัดทอนออกไปบ้างนั้น แต่ส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง การเก็บเสียง การเซ็ทพวงมาลัย ฯลฯ ก็ยังคงเหมือนกับรุ่นอื่นแทบทุกประการ

 

ภายในห้องโดยสารรุ่น 2.4V 2WD AT

 

     เริ่มเข้ามาภายในห้องโดยสารของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ก็สัมผัสได้ถึงความหรูหรา ยกระดับขึ้นจากรุ่นเดิมอย่างชัดเจน เบาะนั่งในรุ่นต่ำสุดเป็นแบบผ้า แต่ยังคงให้ความโอบกระชับพอดี ฟองน้ำนุ่มแน่นกำลังดี ปุ่มต่างๆ ถูกจัดวางให้ใช้งานได้ง่าย คันเกียร์อยู่ในระดับที่แขนเอื้อมถึงโดยไม่ต้องขยับตัวแต่อย่างใด

 

     เริ่มออกเดินทางจากสนามบินสุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าสู่จังหวัดภูเก็ต เราก็พบว่าอัตราเร่งของเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร ที่จับคู่กับเกียร์ธรรมดาคันนี้ ถือว่าแรงตามใจสั่งเลยทีเดียว แม้ว่ารถคันนี้จะไม่มีระบบ iMT สำหรับช่วยรักษารอบเครื่องยนต์ขณะเปลี่ยนเกียร์เช่นเดียวกับรีโว่เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร แต่ก็ถือว่าขับง่ายไม่แพ้รถเก๋ง ด้วยแป้นคลัทช์ที่ไม่ต้องเหยียบจนลึกเหมือนรถกระบะสมัยก่อน ประกอบกับตำแหน่งเกียร์ที่กระชับ เข้าง่าย ทำให้ฟอร์จูนเนอร์เกียร์ธรรมดาคันนี้ เป็นรถที่ขับสนุกอยู่เหมือนกัน

     จะมีข้อติก็คงเป็นคันเกียร์ธรรมดาที่มีความยาวเกินพอดีไปนิดหน่อย ทำให้รู้สึกว่าเกียร์ธรรมดาของฟอร์จูนเนอร์มันยังไม่ ‘สุด’ ขนาดนั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใด เพียงแต่หากคันเกียร์สั้นกว่าที่เป็นอยู่อีกนิด น่าจะทำให้ฟีลลิ่งในการเปลี่ยนเกียร์สนุกขึ้นกว่านี้

     อีกจุดหนึ่งที่ถูกปรับปรุงอย่างชัดเจน คือ ช่วงล่างที่เน้นความนุ่มสบายในการโดยสารเป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะถูกใจผู้ที่ชอบพาครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ เพราะแม้สภาพถนนบางช่วงมีลักษณะขรุขระ เป็นลอนคลื่นบ้าง แต่ช่วงล่างของฟอร์จูนเนอร์ใหม่สามารถดูดซับแรงสะเทือนจากล้อได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การโดยสารเป็นไปอย่างสะดวกสบาย

 

     ส่วนการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารถือว่าใช้ได้เช่นเดียวกัน เสียงจากเครื่องยนต์แทรกเข้ามาให้ได้ยินเพียงเบาๆ จะได้ยินชัดเจนบ้างคงเป็นขณะเร่งแซง แต่ต้องใช้รอบเครื่องยนต์สูงๆ ขณะที่เสียงจากพื้นถนนแทบไม่ต้องพูดถึง เล็ดลอดเข้ามาในห้องโดยสารน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลัง จากการติดตั้งวัสดุซับเสียงไว้ทั่วทั้งคัน

     จะมีก็คงเป็นเสียงลมปะทะที่พอเข้ามาให้ได้ยินบ้าง เมื่อใช้ความเร็วระดับ 100 กม./ชม. ขึ้นไป แต่ก็ยังถือว่าเงียบจนสามารถคุยกับคนในรถได้โดยไม่ต้องขึ้นเสียงให้น่ารำคาญแต่อย่างใด

     พวงมาลัยของฟอร์จูนเนอร์ที่เป็นแบบแร็คแอนด์พีเนี่ยน พร้อมระบบพาวเวอร์ช่วยผ่อนแรงนั้น ยังคงมีระยะฟรีให้เห็นอยู่นิดหน่อย ไม่ถึงกับเฉียบคมอย่างพวงมาลัยไฟฟ้าใน ‘ฟอร์ด เอเวอร์เรส’ ที่เราทดสอบกันไปก่อนหน้านี้

 

     ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะช่วงล่างที่เน้นความนุ่มนวลเป็นพิเศษ ดังนั้นการเซ็ทพวงมาลัยให้คมกริบจนเกินไป อาจเป็นดาบสองคมให้เกิดอันตรายได้ยามหักพวงมาลัยกะทันหันในความเร็วสูง แต่ทว่าจุดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือน้ำหนักพวงมาลัยที่ค่อนข้างเบาไปนิดเมื่อวิ่งด้วยความเร็ว ทำให้จังหวะที่ต้องปะทะลมแรงๆนั้น เราต้องคอยใช้สมาธิในการประคองพวงมาลัยกันอยู่พอสมควร

 

ภายในห้องโดยสารรุ่น 2.4V 2WD AT

 

     จากนั้น เรามีโอกาสได้เป็นผู้โดยสารตอนหลังดูบ้าง ซึ่งเบาะหลังแถวที่ 2 ที่สามารถปรับเอนได้ ช่วยเพิ่มความสบายในการโดยสารได้เป็นอย่างดี พื้นที่วางขามีให้แบบเหลือๆ ขณะที่พื้นที่เหนือศีรษะกลับรู้สึกว่าอึดอัดไปนิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่ง ‘Hip Point’ ของเบาะนั่งแถวที่ 2 ค่อนข้างสูง ประกอบกับการเดินท่อแอร์บริเวณหลังคาที่ต้องเบียดเบียนพื้นที่ของผู้โดยสารไปบ้าง

     ใช่แล้วครับ ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ถูกติดตั้งไว้บริเวณเหนือศีรษะ พร้อมแผงควบคุมความแรงลมแบบปุ่มเลื่อนเฉพาะในรุ่น 2.4G MT (รุ่นเกียร์อัตโนมัติทั้งหมดเป็นแบบดิจิตอลพร้อมปรับแรงลมอัตโนมัติ) ช่วยกระจายความเย็นได้ดี แต่ระดับอุณหภูมิยังคงขึ้นอยู่กับแผงควบคุมด้านหน้าเท่านั้น

 

     หลังจากทดสอบแบบออนโรดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรายังได้ทดสอบในแบบออฟโรดในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้ออีกด้วย ซึ่งสนามทดสอบก็ถูกออกแบบมาโหดใช้ได้อยู่เหมือนกัน ทั้งเนินสลับ ทางชัน ลุยแอ่งโคลน ซึ่งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4L เมื่อใช้งานควบคู่กับระบบ A-TRC (Active Traction Control) ก็ช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้อย่างง่ายดาย

     ขณะลุยออฟโรดนั้น หากล้อใดล้อหนึ่ง (หรือทั้งสองล้อ) ลอยออกจากพื้นถนน หรือเกิดการสูญเสียแรงเสียดทานจากสภาพถนนที่เละเป็นโคลน ธรรมชาติของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อทั่วไปนั้น แรงบิดจะถูกส่งไปยังล้อที่ไม่มีแทร็คชั่น ก่อให้เกิดอาการล้อหมุนฟรี ส่วนล้อข้างที่แตะพื้นกลับไม่มีแรงบิดพอเพื่อให้พ้นอุปสรรคนั้นๆได้

 

     ในกรณีเช่นนี้ ระบบ A-TRC จะช่วยสั่งเบรกไปยังล้อที่สูญเสียแรงเสียดทานไม่ให้หมุนฟรี เพื่อให้ล้อที่แตะพื้นได้รับแรงบิดอย่างเต็มที่ ช่วยให้ข้ามผ่านอุปสรรคไปได้โดยง่ายดายนั่นเอง จากการทดสอบก็พบว่า แม้สนามออฟโรดที่เตรียมมาในครั้งนี้จะโหดขนาดไหน แต่เราก็เพียงแค่เติมคันเร่งเบาๆ เพื่อเรียกแรงบิดถ่ายทอดไปยังล้อทั้งสี่ แล้วปล่อยให้ระบบ A-TRC ช่วยกระจายแรงบิดอย่างเหมาะสมด้วยตัวมันเอง ก็สามารถข้ามอุปสรรคต่างๆได้อย่างสบายแล้ว

 

     สรุป Toyota Fortuner 2015 ใหม่ น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเดินทางแบบครอบครัว ด้วยช่วงล่างที่นิ่มนวลเอาใจผู้โดยสาร แต่สมรรถนะเครื่องยนต์ยังคงแรงได้อย่างใจสั่งทั้งรุ่น 2.8 ลิตร และ 2.4 ลิตร พวงมาลัยเบาไปนิดหากใช้ความเร็วสูง ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อให้สมรรถนะทัดเทียมคู่แข่งในตลาดปัจจุบัน ห้องโดยสารนั่งสบาย เบาะนั่งแถวที่ 3 กว้างขวางเมื่อเทียบกับรถประเภทเดียวกัน ไว้ใจได้เรื่องศูนย์บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

     เอาเป็นว่าถ้าใครชื่นชอบแบรนด์เจ้าตลาดนี้ ก็ซื้อมาใช้ได้เลย รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน



     ราคา Toyota Fortuner 2015 ใหม่ มีดังนี้

  • 2.8V 4WD AT ราคา 1,599,000 บาท*รุ่นที่ใช้ในการทดสอบช่วงออฟโรด
  • 2.8V 2WD AT ราคา 1,529,000 บาท
  • 2.7V 2WD AT ราคา 1,449,000 บาท
  • 2.4V 2WD AT ราคา 1,369,000 บาท
  • 2.4G 2WD MT ราคา 1,199,000 บาท *รุ่นที่ใช้ในการทดสอบช่วงออนโรด

 

     ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ใหม่ในครั้งนี้

 

 

อัลบั้มภาพ 62 ภาพ

อัลบั้มภาพ 62 ภาพ ของ รีวิว Toyota Fortuner 2015 ใหม่ ปรับลุคโฉบเฉี่ยว เครื่องแรงหายห่วง ช่วงล่างนั่งสบาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook