เข้าใจกันผิดๆ รถเฉี่ยวชนกัน รถใหญ่เป็นฝ่ายผิด

เข้าใจกันผิดๆ รถเฉี่ยวชนกัน รถใหญ่เป็นฝ่ายผิด

เข้าใจกันผิดๆ รถเฉี่ยวชนกัน รถใหญ่เป็นฝ่ายผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng วันที่ 19 ตุลาคมว่า

     มีเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ เข้าใจว่าเมื่อรถเฉี่ยวชนกันรถใหญ่จะเป็นฝ่ายผิด โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กว่าร้อยละ 95 เข้าใจว่า ถ้าเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์แล้ว รถยนต์เป็นฝ่ายผิด ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ๆ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ๆ บัญญัติไว้เช่นนั้น

 

     การที่รถยนต์เกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์ด้วยกัน หรือเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ด้วยกันฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูกก็ต้องพิจารณาว่า ′ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท′

     ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสี่ บัญัติว่า กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่าน้ันได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

     ตัวอย่างของการกระทำโดยประมาทเช่นการขับรถยนต์หรือจักยานยนต์ด้วยความเร็วสูง แล่นจี้รถที่แล่นอยู่ข้างหน้าในระยะกระชั้นชิด เมื่อรถคันหน้าหยุดกะทันหันคันที่แล่นตามหลังมาก็หยุดไม่ทันชนท้ายคันหน้า

     เช่นนี้ผู้ขับขี่รถคันหลังเป็นฝ่ายประมาท เพราะอาจใช้ความระมัดระวังโดยการขับขี่ทิ้งระยะห่างจากคันหน้าในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันเมื่อมีเหตุฉุกเฉินแต่ไม่ได้ใช้



     หรือกรณีที่รถแล่นออกมาจากถนนซอย เมื่อถึงถนนใหญ่ก็แล่นออกไปเลยโดยผู้ขับขี่ไม่ได้ดูว่ามีรถแล่นมาหรือไม่ และถูกรถที่แล่นมาตามถนนใหญ่เฉี่ยวชน

     เช่นนี้รถคันที่แล่นออกมาจากถนนซอยเป็นฝ่ายประมาท เพราะอาจใช้ความระมัดระวังโดยผู้ขับขี่ต้องดูเสียก่อนว่ามีรถแล่นผ่านมาหรือไม่ หรือกรณีที่แล่นตัดหน้ารถคันอื่นกะทันหันในระยะกระชั้นชิด เกินกว่ารถคันนั้นจะสามารถหยุดได้ทัน ก็ต้องถือว่าผู้ขับขี่คันที่แล่นตัดหน้าเป็นฝ่ายประมาท เป็นต้น

     ทั้งนี้ ไม่ต้องคำนึงว่าคันไหนเป็นรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์คันไหนเป็นรถที่มีขนาดใหญ่หรือรถที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ดูเพียงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาทเท่านั้น

 

     ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เกิดการเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ถ้าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือเจ้าพนักงานตำรวจจราจรแจ้งว่าท่านเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ซึ่งเป็นรถใหญ่เป็นฝ่ายผิด ก็บอกให้เขารู้ด้วยว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้ แต่เป็นการเข้าใจผิดตามๆกันมาเท่านั้นครับ


     ที่มา Facebook - Chuchart Srisaeng

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook