ระวัง! "เบรกแตก"ไม่ใช่เรื่องตลก มาดูวิธีรับมือให้อยู่หมัด!

ระวัง! "เบรกแตก"ไม่ใช่เรื่องตลก มาดูวิธีรับมือให้อยู่หมัด!

ระวัง! "เบรกแตก"ไม่ใช่เรื่องตลก มาดูวิธีรับมือให้อยู่หมัด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     มติชนรายวัน
     คอลัมน์ คาร์ทิปส์


     ต้องคอยย้ำเตือนกันบ่อยๆ เพราะเชื่อว่ามีหลายคนละเลยการดูแลบำรุงรักษาเบรก อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "เบรกแตก"

     อาการเบรกแตกถ้าเป็นเรื่องคำพูดคำจา จะหมายถึงคนพูดไม่หยุด หรือคุมอารมณ์ไม่ได้ เหมือนผู้นำบางประเทศ

     แต่สำหรับรถยนต์แล้ว อาการดังกล่าวถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ามากหรือน้อยเท่านั้น

     "มติชน" ยานยนต์ รวบรวมข้อมูลสาเหตุเบรกแตก เกิดจากการขาดการดูแลรักษาระบบห้ามล้ออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผ้าเบรก หรืออาจจะมีอาการของระบบเบรกได้รับความเสียหายจากการขับขี่

     ระบบเบรกทุกวันนี้เป็นระบบไฮดรอลิก ทำงานด้วยน้ำมัน หากมีอะไรไปทำให้เกิดความขัดข้อง ระบบจะไม่สามารถทำงาน หมายถึงไม่สามารถหยุดได้



     เราควรจะรู้วิธีป้องกันและเข้าใจอาการเบรกแตก เพื่อความปลอดภัย ดังนี้

     1.ตั้งสติ เมื่อเหยียบเบรกแล้วรถไม่ชะลอหรือหยุด การตั้งสติ คิดให้เร็วขึ้นทำให้รถช้าลง หาวิธีแก้ปัญหา ถ้ามีช่องว่างให้ชิดซ้ายทันที เพราะรถเบรกแตกขับไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ไม่ปลอดภัยทั้งนั้น

     2.ลดคันเร่งและความเร็ว จำไว้ว่าเครื่องยนต์มีแรงเสียดทาน จงใช้ให้เป็นประโยชน์ ที่เรียกว่าเอ็นจิ้น เบรก (Engine Brake) หรืออาการหน่วงของเครื่องยนต์ ช่วยให้ลดความเร็วอย่างกะทันหัน ทำได้โดยเหยียบคลัตช์ ลดตำแหน่งเกียร์ ส่วนเกียร์อัตโนมัติถ้ามีโอเวอร์ไดรฟ์ให้กดปุ่มโอเวอร์ไดรฟ์ หรือสับตำแหน่งเกียร์ จาก D มาเป็น 3 และต่ำลงมาเรื่อยๆ แต่ห้ามเปลี่ยนพรวดเดียวลงมาเป็น L เพราะเครื่องยนต์อาจพังได้

     3.จับพวงมาลัยให้มั่นแล้วชิดซ้าย เมื่อลดเกียร์รถจะค่อยๆ ช้าลง แต่ไม่ถึงกับหยุดสนิท หาทางชิดซ้ายเข้าข้างทาง ห้ามเติมคันเร่ง ถ้ามีรถกีดขวางให้บีบแตรเพื่อส่งสัญญาณ ถ้าเป็นไปได้ควรเปิดไฟฉุกเฉินด้วย

     4.เบรกมือช่วยได้ แม้เบรกแตกแต่เบรกมือหรือที่เรียกว่าเบรกฉุกเฉิน (E-Brake/Emergency Brake) สามารถช่วยได้ จะช่วยลดความเร็วที่ล้อหลัง ช่วยหน่วงและชะลอได้ แต่จำไว้ว่าอย่าดึงแรงทีเดียว ค่อยๆ ดึงขึ้นจนสุด จะช่วยลดความเร็วได้บ้างไม่มากก็น้อย

     5.ทางลาดชันทำยังไง ในกรณีโชคร้ายพบว่าเบรกแตกขณะลงเขานั้น สิ่งสำคัญต้องลดความเร็วอยู่ดี เพียงแต่การลงเขาจะมีโมเมนตัมมากขึ้นจากแรงดึงดูดของโลก การชะลอรถควรเริ่มจากการลดเกียร์ต่ำลงก่อน แต่ให้งดการใช้เบรกมือจนกว่าจะถึงช่วงความชันน้อย จะตอบสนองได้ชัดเจนกว่าและไม่ทำให้เกิดความร้อนมากเกินไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook