คิดให้ดี.. 'ชนแล้วหนี' จะโดนอะไรบ้าง?

คิดให้ดี.. 'ชนแล้วหนี' จะโดนอะไรบ้าง?

คิดให้ดี.. 'ชนแล้วหนี' จะโดนอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ระยะหลังมานี้มีข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความนิยมของกล้องติดรถยนต์ที่ช่วยให้เราเห็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายข่าวที่ปรากฏให้เห็นนั้นพบว่า คู่กรณีมีพฤติกรรม 'ชนแล้วหนี' ซึ่งถือว่าเป็นความผิดอาญาร้ายแรง

     การตัดสินใจ 'ชนแล้วหนี' ถือเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เนื่องจากความผิดฐานขับรถประมาทนั้น ไม่ใช่เรื่องเจตนา ผู้กระทำผิดจึงไม่ใช่อาชญากร หากกระทำการหลบหนี ก็ต้องหลบหนียาวนานถึง 15 ปี ยังไม่รวมกรณีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมถึงค่าเสียหายทางแพ่งอื่นๆอีกมากมาย แต่หากมีการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แม้ว่าจะเป็นฝ่ายผิด ถึงขึ้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ศาลก็จะปราณีลดโทษให้ตามความเหมาะสม

     พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ได้ระบุถึงความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือว่า

     "ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย"

     หากผู้ขับขี่หลบหนี หรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะถูกสันนิศฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด มีสิทธิ์ถูกยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี โดยผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ดังกล่าว "ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

     แล้วหากเกิดอุบัติเหตุจริงๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง? ไม่ยากครับ...

     1. ทำเครื่องหมายสัญญาณให้ชัดเจน เช่น วางป้ายหรือสิ่งของเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ หรืออย่างน้อยที่สุดให้เปิดไฟฉุกเฉินไว้

     2. ให้การช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บเท่าที่จะทำได้ หากมีผู้บาดเจ็บที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ควรใช้บริการเลขหมาย 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) ซึ่งให้บริการรถฉุกเฉินนำส่งผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

     3. แจ้งตำรวจในท้องที่โดยเร็ว ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ เพื่อทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงเพื่อระบายปัญหาจราจรในกรณีมีการกีดขวางเส้นทาง

     4. แจ้งบริษัทประกันภัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายสำหรับการประเมินราคาและการซ่อมต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook