5 สิ่งไม่ลับ แต่คุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับประกันภัยชั้น 1

5 สิ่งไม่ลับ แต่คุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับประกันภัยชั้น 1

5 สิ่งไม่ลับ แต่คุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับประกันภัยชั้น 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลายคนทำประกันภัยรถยนต์โดยอาศัยเพียงชื่อเสียงของบริษัทเป็นหลัก แต่ไม่ศึกษารายละเอียดที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์อย่างถ่องแท้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ ก็อาจไม่สามารถรักษาสิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

     ดังนั้น Sanook! Auto จึงขอแนะนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการทำประกันภัยชั้น 1 ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

 

1.รถพังยับอาจถูก 'คืนทุน'

     ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง ทำให้ตัวรถเกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถซ่อมกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ โดยพิจารณาจากค่าซ่อมที่มากกว่า 70% ของทุนประกัน (หรืออาจสูงถึง 90% แล้วแต่บริษัท) บริษัทประกันจะพิจารณาจ่ายคืนทุนประกันให้แทน โดยเจ้าของรถจะต้องโอนซากรถให้บริษัท และกรมธรรม์จะหมดความคุ้มครองทันที

 

2.เมาแล้วขับประกันไม่จ่าย

     โดยปกติประกันภัยจะไม่คุ้มครองความรับผิดหากผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ขณะที่พ.ร.บ.จราจรทางบกระบุว่า หากผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น หากรู้ตัวว่าดื่มแอลกอฮอล์ ยังไงก็ไม่ควรขับรถครับ

 

3.ประกันไม่จ่ายหากใช้เป็นรถลากจูง

     ในกรณีที่ใช้รถเพื่อลากจูงรถคันอื่น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เช่น เชือกขาด หรือรถที่ถูกลากเบรกไม่อยู่แล้วไหลไปชนเข้ากับรถคันหน้า บริษัทมีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าเสียหายให้รถคันที่ใช้เป็นรถลากจูงได้ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์

 

4.ค่า Excess ต้องจ่ายหรือไม่?

     ปัจจุบันมีการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก หรือ เอ็กเซส เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท ซึ่งกำหนดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. สำหรับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถระบุถึงคู่กรณีได้เมื่อเกิดการชนหรือคว่ำ ซึ่งรวมไปถึงการถูกขูดขีดตัวถัง เหยียบตะปู ต้นไม้ล้มทับ เป็นต้น

 

5.ค่าขนย้ายรถหลังเกิดอุบัติเหตุ ใครจ่าย?

     การขนย้ายรถหลังเกิดอุบัติเหตุนั้น บริษัทประกันภัยต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการขนย้ายไปไหนก็และจำนวนกี่ครั้งก็ตาม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของค่าเสียหายทั้งหมด หากเกินจากนั้น ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นฝ่ายจ่ายส่วนเกินเพิ่มเติมเอง

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook