'ฟิลิปปินส์'' ผุดไอเดีย ห้ามรถวิ่งตามเลขทะเบียน

'ฟิลิปปินส์'' ผุดไอเดีย ห้ามรถวิ่งตามเลขทะเบียน

'ฟิลิปปินส์'' ผุดไอเดีย ห้ามรถวิ่งตามเลขทะเบียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      จากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ผุดไอเดียห้ามรถอายุเกิน 7 ปี เข้ามาวิ่งในพื้นที่ กทม. จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันถึงความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ในบ้านเรา

     ทีมงาน Sanook!Auto จึงนำแนวทางปฏิบัติของต่างประเทศ ในการลดจำนวนการใช้รถยนต์ในเมืองหลวง มาให้ผู้อ่านได้ทราบกันครับว่า เมืองนอกเขาทำกันอย่างไรบ้าง

     ประเทศฟิลิปปินส์ นำมาตรการ  'Unified Vehicular Volume Reduction Program' (UVVRP) หรือมาตรการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ในเขตกรุงมานิลามาใช้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538

     หลักการคือ ห้ามรถที่มีเลขทะเบียนหลักสุดท้ายที่กำหนด เข้าใช้งานในเขตเมืองของกรุงมะนิลาตามวันที่ระบุไว้ เช่น วันจันทร์ จะห้ามรถที่มีเลขทะเบียนลงท้ายด้วย 1 และ 2 ไล่ไปจนถึงวันศุกร์ ก็จะห้ามรถที่มีเลขทะเบียนลงท้ายด้วย 9 และ 0 เข้ามาวิ่งในเขตเมือง เป็นต้น โดยจะบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า ไปจนถึง 1 ทุ่มเลยทีเดียว ยกเว้นวันหยุดและวันสุดสัปดาห์

     อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวถูกยกเว้นกับรถบางประเภท เช่น รถพยาบาล, รถโรงเรียน, หรือรถส่วนบุคคลที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (รวมผู้ขับ)

     ซึ่งมาตรการนี้ประสงค์ให้ผู้ขับขี่ หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์นั่นเอง


     ประเทศอังกฤษ มีการเก็บค่าผ่านทางกรุงลอนดอน (London Congestion Charge)  ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2546 โดยหากพบว่ารถยนต์คันใด วิ่งเข้ามาในเขตที่กำหนดของกรุงลอนดอน รถคันดังกล่าวจะถูกเรียกเก็บเงินจำนวน 10 ปอนด์ หรือราว 500 บาท ต่อวัน (คิดคร่าวๆหากวิ่งเป็นเวลา 30 วัน จะตกเป็นเงินกว่า 15,000 บาทเลยทีเดียว) โดยจะมีกล้องบันทึกเลขทะเบียนรถยนต์แต่ละคันอย่างอัตโนมัติ

     มาตรการนี้มีข้อยกเว้นที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อย คือ หากเป็นรถที่ผ่านมาตรฐาน EURO 5 และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 75 กรัมต่อกิโลเมตร หรือ รถตั้งแต่ 9 ที่นั่งขึ้นไป หรือ รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน (All-electric Vehicle)  และแบบ Plug-in Hybrid รถดังกล่าวนี้จะได้รับส่วนลด 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม หรือเท่ากับไม่ต้องเสียค่าผ่านทางนั่นเอง

     นอกจากนั้น ยังมีกรุงมิลานของประเทศอิตาลี และกรุงสต็อกโฮล์มของสวีเดน ที่ใช้มาตรการคล้ายๆกับที่ลอนดอนอีกด้วย

     จะเห็นได้ว่า เมืองต่างๆที่มีการบังคับใช้มาตรการลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล ต่างก็มีมาตรฐานของระบบขนส่งสาธารณะอยู่ในระดับสูง

     ส่วนประเทศไทย คงต้องลุ้นว่ามาตรการรถเสียนาทีละ 100 บาท และห้ามรถอายุเกิน 7 ปีวิ่งในกทม. จะถูกบังคับใช้จริงๆหรือเปล่า

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook