5 วิธีถนอมเกียร์ออโต้แบบง่ายๆไม่ให้พังเร็ว

5 วิธีถนอมเกียร์ออโต้แบบง่ายๆไม่ให้พังเร็ว

5 วิธีถนอมเกียร์ออโต้แบบง่ายๆไม่ให้พังเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เกียร์ออโต้หรือเกียร์อัตโนมัติเป็นชิ้นส่วนหลักในการขับเคลื่อนของรถ แถมยังเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาสูงมากหากจำเป็นต้องซ่อมหรือเปลี่ยน Sanook! Auto จึงขอแนะนำ 5 วิธีถนอมเกียร์ออโต้ไม่ให้พังเร็วมาฝากกัน

1.ไม่คิกดาวน์บ่อยจนเกินไป

     การคิกดาวน์ (Kickdown) คือ การเหยียบแป้นคันเร่งให้ลึกกว่าปกติเพื่อเพิ่มความเร็วอย่างเร่งด่วน มักใช้ในกรณีเร่งแซงหรือหลบหลีกสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งตำแหน่งเกียร์จะถูกปรับลงมา 1-2 จังหวะตามน้ำหนักเท้าที่กดลงไป แต่การคิกดาวน์บ่อยๆ จะมีผลทำให้ชุดเกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ เพราะชุดเกียร์ต้องรับแรงบิดที่เพิ่มขึ้นกะทันหันอยู่บ่อยครั้ง ทางที่ดีควรคิกดาวน์เมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น การขับขี่ปกติควรค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้นไปจะดีกว่า

 

2.จอดทางลาดใช้เบรกมือช่วย

     การจอดรถบนทางลาดชัน คนส่วนใหญ่มักใช้วิธีใส่เกียร์ P เพื่อป้องกันรถไหลเพียงอย่างเดียว แต่ทางที่ดีควรใช้เบรกมือควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สลักเกียร์ต้องแบกรับน้ำหนักตัวรถมากจนเกินไป

     ส่วนวิธีจอดรถบนทางลาดชันที่เหมาะสมนั้น หลังจากจอดรถเสร็จอย่าเพิ่งใส่เกียร์ P ทันที ระหว่างที่เหยียบแป้นเบรกอยู่ ให้ดึงเบรกมือขึ้นจนสุด ค่อยๆปล่อยเท้าออกจากแป้นเบรกให้มั่นใจว่ารถไม่ไหล จากนั้นจึงค่อยผลักตำแหน่งเกียร์ไปยัง P วิธีนี้จะทำให้เบรกเป็นตัวรับภาระน้ำหนักรถแทน และหลังจากที่สตาร์ทรถเพื่อขับออกไปนั้น ให้ปลดเกียร์ออกจากตำแหน่งเกียร์ P ก่อน (จะใส่เกียร์ R N หรือ D ก็ตามแต่) แล้วจึงปลดเบรกมือ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันความเสียหายกับชุดเกียร์ได้

102

3.ไม่ปล่อยเกียร์ว่างขณะรถวิ่ง

     ใครที่คุ้นชินกับการขับรถเกียร์ธรรมดามาก่อน เมื่อมาขับเกียร์ออโต้แล้วล่ะก็ ห้ามใช้วิธีผลักไปเกียร์ว่างแล้วปล่อยให้รถไหลเวลาใกล้ถึงไฟแดงเด็ดขาด เพราะทันทีที่เข้าเกียร์ N น้ำมันหล่อลื่นในห้องเกียร์จะหยุดไหลเวียน ขณะที่เกียร์กำลังหมุนอยู่ ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงกว่าปกติ หากทำบ่อยๆจะทำให้น้ำมันเกียร์เสื่อม ส่งผลต่อประสิทธิภาพการหล่อลื่น และทำให้เกียร์เกิดความเสียหายได้เร็วขึ้นนั่นเอง

 

4.เปลี่ยนเกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็ว

     เกียร์ออโต้จะมีตำแหน่งเกียร์ให้ผู้ขับขี่สามารถปรับอัตราทดเองได้ ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม +, - หรือตำแหน่ง 3, 2, L (แตกต่างกันไปตามแต่ละผู้ผลิตจะใส่มา) ซึ่งตำแหน่งเกียร์ D ปกติก็สามารถครอบคลุมการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ควรปรับเกียร์เป็นตำแหน่งอื่นบ่อยๆโดยไม่จำเป็น นอกเสียจากต้องการเร่งแซงหรือใช้แรงเบรกจากเครื่องยนต์

     ขณะที่รถรุ่นใหม่ๆ ที่มีโหมด Sport ติดตั้งมาให้ ก็ไม่ควรใช้งานบ่อยครั้งนัก เพราะจะทำให้เกียร์เปลี่ยนอัตราทดช้ากว่าปกติ พูดง่ายๆ คือลากรอบเครื่องยนต์สูงๆนั่นเอง ทีนี้เมื่อเกียร์มีการเปลี่ยนอัตราทดที่รอบเครื่องยนต์สูงบ่อยๆ ชุดเกียร์ก็ต้องรับภาระแรงบิดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย เมื่อใช้ไปนานๆเข้าจะทำให้ชุดเกียร์เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติได้

 

5.น้ำมันเกียร์เปลี่ยนให้บ่อย

     น้ำมันเกียร์เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยหล่อลื่นและปกป้องชุดเกียร์ เมื่อใช้ไปนานๆเข้า ก็จะเกิดความเสื่อมสภาพ อาจมีเศษตะกอนค้างอยู่ในอ่างน้ำมันเกียร์ ซึ่งเกิดจากการเสียดสีเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามกำหนดที่ระบุไว้ในคู่มือ แต่หากรถรุ่นใดระบุว่าไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตลอดอายุการใช้งาน ก็ให้ตั้งระยะเวลาเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ด้วยตัวเองประมาณ 40,000 - 60,000 กิโลเมตรแทน เนื่องจากสภาพอากาศร้อนในบ้านเรามีผลทำให้น้ำมันเกียร์เสื่อมเร็วกว่าปกติได้

     เพียงเท่านี้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานเกียร์ให้ยาวนานขึ้น ไม่พังก่อนเวลาอันควร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook