รีวิว Honda Clarity Fuel Cell และ Clarity Electric 2018 ใหม่ สองขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอนาคต

รีวิว Honda Clarity Fuel Cell และ Clarity Electric 2018 ใหม่ สองขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอนาคต

รีวิว Honda Clarity Fuel Cell และ Clarity Electric 2018 ใหม่ สองขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เรารู้กันอยู่แล้วว่า ‘น้ำมัน’ ที่เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนยานพาหนะในทุกวันนี้ กำลังลดน้อยลงไปทุกที ผู้ผลิตรถยนต์จึงเริ่มหันไปพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เพื่อให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

     Honda Clarity 2018 ใหม่ เป็นหนึ่งในไลน์อัพของฮอนด้าที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนารถยนต์เพื่อรองรับพลังงานทางเลือก ซึ่งเรามีโอกาสเข้าร่วมทดสอบบนสนามแข่งทวิน ริง โมเตกิ (Twin Ring Motegi) ซึ่งเป็นสนามทดสอบของฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

100

     Honda Clarity 2018 ถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 รุ่น แบ่งตามขุมพลังขับเคลื่อน ประกอบด้วย Clarity Plug-in Hybrid, Clarity Electric และ Clarity Fuel Cell

     ปัจจุบัน Honda Clarity Fuel Cell ถูกวางจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นในรูปแบบเช่าระยะยาว (Lease) ขณะที่ Clarity Plug-in Hybrid ก็เพิ่งเปิดตัวที่งานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2017 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยทั้ง 2 รุ่น ถือเป็นก้าวสำคัญของฮอนด้าในการพัฒนารถพลังงานทางเลือกให้เกิดความแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต

104

     การทดสอบในครั้งนี้ เรามีโอกาสทดสอบ คลาริตี้ ซีรี่ย์ จำนวนทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่ Clarity Plug-in Hybrid และ Clarity Fuel Cell ซึ่งแม้ว่าหน้าตาของทั้งคู่จะดูใกล้เคียงกัน แต่หัวใจในการขับเคลื่อนต่างกันไปอย่างลิบลับ

107

     เริ่มต้นกันที่ Honda Clarity Plug-in Hybrid ซึ่งดูภายนอกแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับ Honda Accord แต่มีดีไซน์ที่ดูโฉบเฉี่ยว สะดุดตาด้วยการออกแบบซุ้มล้อคู่หลังแบบปาดเรียบ อันเป็นเอกลักษณ์ของ Clarity ทุกรุ่น

     Clarity Plug-in Hybrid ถูกติดตั้งขุมพลังสปอร์ตไฮบริด i-MMD ทำงานคู่กันระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson-Cycle และมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุดอยู่ที่ 181 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 315 นิวตัน-เมตร มีอัตราสิ้นเปลืองหลังจากใช้พลังงานไฟจนหมดอยู่ที่ 46.76 กม./ลิตร

102

     จุดเด่นสำคัญของ Clarity Plug-in Hybrid ก็คือแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนที่มีขนาดความจุถึง 17 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ติดตั้งไว้บริเวณพื้นห้องโดยสารใต้ที่นั่งผู้โดยสาร ทำให้ไม่รบกวนพื้นที่ภายในห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายเหมือนกับรถไฮบริดบางรุ่น

     ทั้งนี้ Clarity Plug-in Hybrid สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น และมีอัตราสิ้นเปลืองหลังจากพลังงานที่ชาร์จหมดลงอยู่ที่ประมาณ 46.76 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ แม้ว่าการใช้งานจริงโดยทั่วไปอาจไม่สามารถขับให้ได้ตัวเลขดังกล่าวก็ตามที ขณะที่การชาร์จไฟจนเต็มใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยแรงดันไฟ 240 โวลต์

102_1

     ถัดมาที่ Clarity Fuel Cell ซึ่งเป็นรถพลังงานทางเลือกที่ฮอนด้าทุ่มเทพัฒนามาอย่างยาวนาน จะมีรูปลักษณ์ต่างไปจากเวอร์ชั่น Plug-in Hybrid เล็กน้อยก็เพียงกระจังหน้าที่ออกแบบให้ดูต่างกัน นอกนั้นแทบแยกความแตกต่างของทั้งสองรุ่นไม่ออก

     เมื่อเปิดฝากระโปรงหน้าของ Clarity Fuel Cell ขึ้นมา เครื่องยนต์สันดาปภายในกลับถูกแทนที่ด้วยแผงเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Stack) ที่มีขนาดใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ วี6 ทั่วไป ขณะที่ถังไฮโดรเจนแรงดัน 70 เมกะปาสคาล ถูกติดตั้งไว้บริเวณท้ายรถ พร้อมแบตเตอรี่ติดตั้งบริเวณใต้เบาะนั่งคู่หน้า

117_1

     Clarity Fuel Cell สามารถเติมไฮโดรเจนจนเต็มถังได้ในเวลาราว 3 นาที ซึ่งจะทำให้รถสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางประมาณ 589 กิโลเมตรต่อเชื้อเพลิง 1 ถัง ตามมาตรฐาน 2017 EPA Ratings ขณะที่มาตรฐาน JC08 ระบุว่าสามารถวิ่งได้ไกลถึง 750 กิโลเมตรเลยทีเดียว

111

ภายในห้องโดยสารของรุ่น Clarity Plug-in Hybrid

 

     ภายในห้องโดยสารถูกตกแต่งไม่ต่างไปจากรถระดับ D-Segment ของค่าย แผงคอนโซลติดตั้งหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ยกขึ้นมาจากแผงคอนโซล ขณะที่คันเกียร์ถูกแทนที่ด้วยเกียร์ไฟฟ้าแบบปุ่มแบบที่พบใน Honda CR-V 2018 ซึ่งอาจดูแปลกตาในระยะแรก แต่ก็ให้ความสะดวกไปอีกแบบเหมือนกัน

113

ภายในห้องโดยสารของรุ่น Clarity Plug-in Hybrid

 

     สำหรับการทดสอบรถทั้ง 2 รุ่นนั้น เราได้ขับในระยะทางสั้นๆ บนสนามปิดเป็นจำนวน 2 รอบ เริ่มต้นที่ Clarity Fuel Cell เป็นคันแรก

1

     ขุมพลังไฮโดรเจนของ Clarity Fuel Cell ให้ความรู้สึกต่างไปจากรถไฟฟ้าและรถไฮบริดอยู่เล็กน้อย เพราะทันทีที่เริ่มออกตัวอย่างช้าๆ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนกำลังขับรถไฟฟ้าอยู่ เนื่องจากความเงียบสนิทไร้เสียงคำรามของเครื่องยนต์

     แต่ทันทีที่กดคันเร่งไปประมาณ 3 ใน 4 ของระยะทั้งหมด จะเริ่มได้ยินเสียงการทำงานของระบบฟิวเซลด้านหน้ารถเข้ามาบ้าง พร้อมกับความเร็วที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่ทีมฮอนด้าประเทศญี่ปุ่นขอให้จำกัดความเร็วเอาไว้ที่ 60 กม./ชม. เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ยังเผลอทำความเร็วขึ้นไปราว 80 กม./ชม. ด้วยความนิ่งและเงียบที่ของห้องโดยสาร ที่แทบจะไม่รู้สึกถึงความเร็วในขณะนั้นเลย

101

     จากนั้น เราได้สลับไปขับรถปลั๊กอินไฮบริด Clarity Plug-in Hybrid กันต่อ ซึ่งแม้ว่าภายในรถจะดูเหมือนกับรุ่นฟิวเซล แต่ขุมพลังที่ใช้ในการขับเคลื่อนกลับต่างกันอย่างลิบลับ

     สำหรับรุ่นปลั๊กอินไฮบริดนั้น มีการทำงานเหมือนกับรถยนต์ไฮบริดทั่วไป นั่นคือสามารถเร่งออกตัวด้วยไฟฟ้า จากนั้นเมื่อมีการเพิ่มความเร็วอย่างเร่งด่วน ระบบก็จะสั่งงานให้เครื่องยนต์เข้ามาเสริมกำลัง แต่จุดสำคัญคือแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถไฮบริดปกติ ทำให้สามารถขับเคลื่อนในโหมดไฟฟ้า (EV) ได้ระยะทางมากกว่า ซึ่งน่าเสียดายที่เรามีโอกาสทดสอบในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น

     แต่ที่น่าแปลกใจก็คือขุมพลังปลั๊กอินไฮบริดที่ทำงานผสานกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตรและมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถขับเคลื่อนรถที่มีตัวถังขนาดใหญ่เช่นนี้ได้อย่างสบาย ด้วยแรงบิดกว่า 315 นิวตัน-เมตร จนแทบไม่รู้สึกเลยว่านี่คือเครื่องยนต์ที่มีขนาดเท่ากับซิตี้คาร์เท่านั้น

105

     กล่าวโดยสรุปนั้น Honda Clarity Plug-in Hybrid มีการทำงานคล้ายกับรถไฮบริดโดยทั่วไป แต่มีข้อดีอยู่ที่แบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า ทำให้สามารถขับขี่ด้วยไฟฟ้าได้เป็นระยะทางมากกว่า พร้อมทั้งมีโหมด EV ที่ช่วยให้ขับขี่ได้ด้วยไฟฟ้าล้วน ขณะที่ Clarity Fuell Cell ให้ความรู้สึกเหมือนรถไฟฟ้า แต่ทันทีที่กดคันเร่งจมมิด จะมีเสียงการทำงานของระบบฟิวเซลดังกระหึ่มคล้ายกับเครื่องยนต์สันดาปอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองรุ่นก็ถือว่ามีสมรรถนะที่ดีใกล้เคียงกัน

     แม้ว่าการทดสอบครั้งนี้ เราจะไม่ได้คลุกคลีกับรถทดสอบมากมายนัก แต่ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของฮอนด้าที่ต้องการให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า พวกเขาสามารถสร้างรถยนต์พลังงานฟิวเซลและปลั๊กอินไฮบริดได้สำเร็จ และพร้อมอย่างยิ่งที่จะส่งมอบถึงมือลูกค้าได้อย่างมั่นใจแล้ว

119

     ซึ่งนั่นเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของฮอนด้า ว่าภายในปี 2030 หรืออีกราว 13 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ ยอดขายของฮอนด้ารวมทั่วโลกจำนวน 2 ใน 3 จะต้องเป็นรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งนั่นหมายรวมทั้งรถไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด, รถไฟฟ้า และรถฟิวเซลที่เราได้มีโอกาสทดสอบในครั้งนี้ โดยมีรถพลังงานไฮบริดและไฮบริดเสียบปลั๊กเป็นตัวหลักในการทำตลาด

     การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ไม่เพียงแต่ตัวรถเท่านั้นที่ต้องพร้อม แต่ยังมีเรื่องโครงข่ายสถานีชาร์จไฟที่สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งฮอนด้ามีแผนติดตั้งและขยายสถานีชาร์จไฟในกลุ่มประเทศหลักๆ เช่น ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

110

     ส่วนบ้านเราก็ถือว่าไม่ห่างไกลจากวิสัยทัศน์นี้เท่าไหร่นัก อันจะเห็นได้จากการเปิดตัวรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่ๆ ลงสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮอนด้าเองก็เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตที่พร้อมจะป้อนผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ลงสู่ตลาดเช่นกัน

     แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็น Honda Clarity ถูกวางจำหน่ายและวิ่งอยู่บนถนนประเทศไทย แต่มีความเป็นไปได้ว่าขุมพลังแบบเดียวกันนี้ อาจถูกนำไปวางกับรถขายจริงในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้


อัลบั้มภาพ 26 ภาพ

อัลบั้มภาพ 26 ภาพ ของ รีวิว Honda Clarity Fuel Cell และ Clarity Electric 2018 ใหม่ สองขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook