10 อ็อพชั่นไม่จำเป็นในรถรุ่นท็อป ไม่มีก็ไม่เสียหาย

10 อ็อพชั่นไม่จำเป็นในรถรุ่นท็อป ไม่มีก็ไม่เสียหาย

10 อ็อพชั่นไม่จำเป็นในรถรุ่นท็อป ไม่มีก็ไม่เสียหาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็มีหลายอ็อพชั่นที่เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินซื้อรถรุ่นท็อปเพื่อให้ได้มันมาใช้งาน Sanook! Auto จึงขอแนะนำ 10 อ็อพชั่นไม่จำเป็นในรถรุ่นท็อป ไม่ใช้ก็ไม่เสียหายอะไร

107

1.กุญแจ Keyless Entry + ปุ่มสตาร์ท

     กุญแจแบบ Keyless Entry ทำงานควบคู่กับปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ แทบจะกลายเป็นอ็อพชั่นมาตรฐานของรถตั้งแต่ระดับอีโคคาร์ขึ้นมา ซึ่งแม้ว่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นได้ แต่หากจำเป็นต้องกัดฟันซื้อรถรุ่นที่แพงกว่าเพื่อให้ได้มา ก็อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก เพราะลำพังกุญแจรีโมทธรรมดาๆ ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว

 

104

2.ระบบนำทาง

     แม้ว่าระบบนำทางจะเป็นอ็อพชั่นที่ดี แต่ปัจจุบันมันกลับถูกแทนที่ด้วยแอพพลิเคชั่นบนมือถืออย่าง Google Maps ไปเสียแล้ว เนื่องจากแผนที่จะถูกอัพเดตอยู่ตลอดเวลา จับสัญญาณได้รวดเร็ว สามารถดูข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์ได้ แถมยังมีตำแหน่งสถานที่ใหม่ๆ (Points Of Interest - POI) เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนวางใจเลือกใช้กูเกิลแมพในการนำทางแทน

 

100

3.ระบบ Engine Start/Stop

     ระบบช่วยประหยัดน้ำมัน Engine Start/Stop จะช่วยดับเครื่องยนต์ชั่วคราวอัตโนมัติเมื่อจอดติดไฟแดง และจะสตาร์ทเครื่องยนต์อีกครั้งเมื่อปล่อยเบรก ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสภาพอากาศและจราจรในบ้านเรา เพราะทุกครั้งที่เครื่องยนต์ดับ คอมเพรสเซอร์แอร์จะไม่ทำงาน ทำให้ห้องโดยสารอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว จนบ้างครั้งแทบจะหายใจไม่ออก อีกทั้งการจราจรแบบขยับตัวได้ทีละนิดๆ จะทำให้เครื่องยนต์ดับและสตาร์ทบ่อยกว่าปกติ อาจส่งผลต่อไดสตาร์ทและระบบไฟในรถได้ในระยะยาว

 

102

4.เครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส

     คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสเป็นอ็อพชั่นที่ใครหลายคนถวิลหา แต่หน้าจอแบบสัมผัสนี่แหละที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากผู้ขับขี่ต้องละลายตาเพื่อมองหน้าจอขณะกดสั่งงาน ต่างจากเครื่องเสียงแบบปุ่มธรรมดา ที่ยังพออาศัยความชินในการคลำหาปุ่มได้ ทางที่ดีหน้าจอสัมผัสควรมาพร้อมปุ่มสั่งงานแยกต่างหาก เช่น ปุ่ม iDrive ในรถ BMW, แป้นทัชแพดระบบ COMAND ในรถ Mercedes-Benz หรือปุ่ม Center Commander ของ Mazda เป็นต้น

     นอกจากนี้ หากเป็นหน้าจอสัมผัสในรถราคาต่ำๆ หน่อย มักมีการแสดงผลไม่ค่อยสวยงาม ตอบสนองช้า และอาจไม่มีฟังก์ชั่นมากมายอย่างที่คิด

 

103

5.เบาะนั่งหุ้มวัสดุหนัง (เทียม)

     เบาะนั่งหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์แม้ว่าจะทำให้รถดูดีมีราคาไม่แพ้เบาะหนังแท้ แต่ก็มีข้อเสียเรื่องการอมความร้อน โดยเฉพาะบ้านเราที่ต้องเจอแดดแรงๆ เป็นประจำ ซึ่งเบาะผ้าจะช่วยตัดปัญหานี้ได้ แต่ถึงอย่างไร เบาะผ้าก็มีข้อเสียบางอย่างเช่นกัน อาทิ สะสมฝุ่น, เก็บความชื้น, เลอะง่าย ฯลฯ

 

106

6.เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า

     เบาะนั่งปรับไฟฟ้ามักอยู่ในรถราคาแพงๆ แต่ก็ใช่ว่ามันจำเป็นเสมอไป เพราะเบาะธรรมดาๆ ก็สามารถปรับได้ตามใจ แถมยังไม่มีกลไกมอเตอร์ไฟฟ้าให้เสียในอนาคตอีกด้วย

 

101

7.ชุดแต่งรอบคัน

     ชุดแต่งภายนอกแม้ว่าจะช่วยให้รถดูเท่มากขึ้น แต่แทบไม่มีผลใดๆ ต่อการขับขี่เลย (แถมยังจะทำให้รถมีน้ำหนักเพิ่มเสียด้วยซ้ำ) อันนี้ถือว่าแต่งมาให้คนภายนอกดูล้วนๆ

 

109

8.ระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า

     ระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้ามักติดตั้งเป็นอ็อพชั่นในรถแพงๆ เช่นกัน แต่จุดประสงค์หลักของที่ฉีดน้ำล้างไฟหน้านั้น มักใช้สำหรับการละลายหิมะในเมืองหนาวเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากน้ำในถังพักมีความอุ่นพอจะสลายหิมะที่เกาะตัวอยู่กับไฟหน้าได้ ขณะที่ประสิทธิภาพการล้างฝุ่นโคลนกลับไม่มากมายขนาดนั้น

 

108

9.ช่วงล่างแบบถุงลม

     ช่วงล่างแบบถุงลม (Air Suspenion) จัดว่าเป็นช่วงล่างระดับเทพที่ช่วยให้รถนุ่มสบายราวกับนั่งพรมวิเศษ แต่หากเสียขึ้นมา ก็อาจต้องช็อคกับค่าซ่อมที่แพงมหาโหดระดับหลายหมื่นบาท แถมยังเป็นระบบที่มีความซับซ้อนกว่าช่วงล่างปกติมาก ที่ต้องอาศัยการซ่อมโดยศูนย์บริการเพียงอย่างเดียว

 

105

10.ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ

     ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อมีประโยชน์หลักๆ อยู่ที่การขับขี่แบบออฟโรด ซึ่งแลกมาด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะขับออนโรดหรือออฟโรด เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และกลไลขับสี่แบบฟูลไทม์ในรถบางรุ่น ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องนำรถไปลุยทางออฟโรด ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อรถขับเคลื่อนสี่ล้อมาใช้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook