เทคโนโลยี “รถ F1” สักวันจะมาอยู่ในรถคุณ!

เทคโนโลยี “รถ F1” สักวันจะมาอยู่ในรถคุณ!

เทคโนโลยี “รถ F1” สักวันจะมาอยู่ในรถคุณ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หากพูดถึงการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก หรือ ฟอร์มูล่า วัน คนส่วนใหญ่อาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัว และไม่คิดจะสนใจมันเลยด้วยซ้ำ แต่รู้หรือไม่ว่า เทคโนโลยีมากมายที่อยู่ในรถเอฟวัน ในปัจจุบัน สักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้มันกำลังจะเข้ามาอยู่ในรถที่คุณขับในชีวิตประจำวัน

107

ภาพจาก formula1.com



     นับจากที่การแข่งขันเอฟวัน เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในยุคปี 1950 มาถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีเกือบทุกอย่างในรถบ้านล้วนได้รับการพัฒนาที่เริ่มต้นจากสนามแข่งเอฟวันแทบทั้งสิ้น Tonkit360 จะนำทุกท่านย้อนกลับไปดูว่าจากอดีตถึงปัจจุบันรถบ้านมีเทคโนโลยีใดที่มาจากรถเอฟวันบ้าง และในอนาคตเทคโนโลยีรถเอฟวันตัวใดที่จะมีโอกาสเข้ามาอยู่ในรถของพวกเรา

ระบบเกียร์ Paddle Shift

     นี่คือเทคโนโลยีในรถบ้านที่ถูกติดตั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน กับลูกเล่นของเกียร์อัตโนมัติที่สามารถปรับโหมดให้ได้ความรู้สึกเหมือนกับขับรถเกียร์ธรรมดา ซึ่งมักจะถูกติดตั้งไว้ที่หลังพวงมาลัย รวมถึงคันเกียร์ปกติ

101

เกียร์ Paddle Shift มีจุดเริ่มต้นมาจากรถเอฟวัน



     โดยจุดเริ่มของเกียร์ที่เป็นรูปแบบ Paddle Shift มาจากทีมแข่งเฟอร์รารี่ ที่คิดค้นเทคโนโลยีนี้เป็นครั้งแรกลงแข่งขันเอฟวันในปี 1989 จากนั้นในปี 1997 ค่ายเฟอร์รารี่ จะนำระบบนี้มาใส่ในรถ เฟอร์รารี F355 เป็นครั้งแรก ก่อนที่ปัจจุบัน ระบบดังกล่าวจะแพร่หลายในรถยนต์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

ระบบอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics)

     ระบบปีกหลังปรับระดับได้ หรือที่ผู้บรรยายเอฟวันจะเรียกว่า DRS (Drag Reduction System) ที่นักขับเอฟวันจะกดปุ่มเปิด DRS ในขณะวิ่งในทางตรงยาวๆนั้น แท้จริงแล้วมันคือสุดยอดเทคโนโลยีเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์ ที่จะทำให้รถไปได้เร็วขึ้นในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มแรงกด (downforce) ให้ตัวรถยึดเกาะพื้นแทร็กได้ดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

106

ระบบปีกหลังปรับระดับได้ในรถเอฟวัน

104

ปีกหลังปรับระดับในซูเปอร์คาร์ แม็คลาเรน P1



     เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำเข้ามาใช้ในรถเอฟวันครั้งแรก ในปี 2011 ขณะที่รถระดับซูเปอร์คาร์ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้มานานแล้วเช่นเดียวกัน ว่ากันว่า หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเปิด DRS จะทำให้เพิ่มแรงกดให้กับรถสูงถึง 600 กิโลกรัม เลยทีเดียว ซึ่งสักวันเทคโนโลยีนี้อาจจะมาอยู่ในรถยนต์ทั่วไปก็เป็นได้

เครื่องยนต์เล็กติดเทอร์โบ

     ระบบอัดอากาศหรือเทอร์โบ แท้จริงแล้วมีจุดเริ่มมาจากรถแข่งเอฟวันในยุคปี 1978 ขณะที่ในปัจจุบัน เทอร์โบ ถูกนำกลับมาใช้ในเครื่องยนต์รถเอฟวันอีกครั้ง รวมกับเครื่องยนต์ V6 ความจุเพียงแค่ 1.6 ลิตร แต่สามารถทำกำลังได้ถึงกว่า 600 แรงม้า

100

เมอร์เซเดส CLA200 หนึ่งในตัวอย่างรถเครื่องเล็กติดเทอร์โบ



     ซึ่งในยุคปัจจุบัน รถยนต์ในท้องตลาดรุ่นใหม่ๆบ้านเรา ล้วนเปิดตัวด้วยรถ เครื่องยนต์ระดับ 1.5-1.6 ลิตร พร้อมเทอร์โบแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ซีวิค เทอร์โบ ,บีเอ็มดับเบิลยู 118i หรือ เมอร์เซเดส CLA200 ซึ่งทั้งหมดคือจุดเริ่มที่มาจากนโยบายของเอฟวัน ที่ต้องการลดขนาดเครื่องยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน แต่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพความแรง

ระบบสำรองพลังงาน (ERS)

     ในยุคที่เอฟวัน ปรับกติกาจากเครื่องยนต์ V8 ความจุ 2.4 ลิตร เป็น V6 ความจุ 1.6 ลิตร เทอร์โบชาร์จ หลายคนสงสัยว่า รถเอฟวันจะชดเชยแรงม้าที่สูญเสียไปจากการปรับลดความจุเครื่องยนต์ครั้งนี้ราวเกือบ 200 ตัวได้อย่างไร

105

เทคโนโลยีเครื่องยนต์และระบบสำรองพลังงานในรถเอฟว้นปี 2018



     ทว่าในรถเอฟวันยุคใหม่ มีการติดตั้งระบบสำรองพลังงาน (ERS) เอาไว้ ด้วยการใช้เทคโนโลยี ดึงพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ มาร่วมสร้างพลังงานที่สูญเสียไปจากระบบเบรก ซึ่งมันสามารถเพิ่มแรงม้าได้ถึง 160 ตัวเลยทีเดียว และในปัจจุบัน ซูเปอร์คาร์ อย่าง เฟอร์รารี่ LaFerrari แม็คลาเรน P1 และ ปอร์เช่ 918 ต่างติดตั้งเทคโนโลยีตัวนี้มากับรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สุดยอดระบบไฮบริด

     แม้รถบ้านในยุคปัจจุบัน จะมีรถไฮบริด อาทิ พรีอุส ,คัมรี่ ไฮบริด ,แอคคอร์ด ไฮบริด หรือกระทั่ง ปลั๊กอิน-ไฮบริด อย่าง เมอร์เซเดส C350e แต่ในอนาคตสุดยอดเทคโนโลยีไฮบริดที่อยู่ในรถแข่งฟอร์มูล่า วัน อาจจะเข้ามาพลิกโฉมวงการยานยนต์ก็เป็นได้

102

AMG Project One รถที่ถอดแบบเทคโนโลยีจากรถเอฟวันทีมเมอร์เซเดส จีพี



     โดยระบบดังกล่าว คือระบบที่ถอดแบบมาจาก เครื่องยนต์รถเอฟวันของ ลูอิส แฮมิลตัน ในทีมเมอร์เซเดส จีพี ที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีกำลังจะติดตั้งลงไปในรถ “เมอร์เซเดส-AMG Project One” ที่ว่ากันว่าจะสามารถทำให้เครื่องยนต์ V6 ความจุ 1.6 ลิตร มีกำลังทะลุ 1,000 แรงม้าได้เลยทีเดียว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook