มนุษย์เงินเดือนซื้อรถคันแรกต้องทำอย่างไรบ้าง?

มนุษย์เงินเดือนซื้อรถคันแรกต้องทำอย่างไรบ้าง?

มนุษย์เงินเดือนซื้อรถคันแรกต้องทำอย่างไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ การซื้อรถยนต์หนึ่งคันถือเป็นภาระอันใหญ่หลวงที่ต้องรับผิดชอบดูแลอย่างดี ไม่ปล่อยให้กลายเป็นหนี้เน่าจนทำให้เครดิตเสีย ยิ่งเป็นรถคันแรกแล้วล่ะก็ อาจถือเป็นสิ่งของมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อสำหรับใครบางคนเลยก็ว่าได้

     จริงๆ แล้วการเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนนั้น มีข้อดีกว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะไฟแนนซ์มักปล่อยสินเชื่อให้ง่ายกว่า เนื่องจากมีรายได้ประจำทุกเดือน แถมยังนำเอาโบนัสและโอทีมาคิดเป็นรายได้อีกด้วย หากอายุงานพ้นช่วง 3-4 เดือน ซึ่งเป็นช่วง Probation period ของหลายๆ บริษัท (พูดง่ายๆ คือ ผ่านโปรแล้วนั่นเอง) ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้มั่นคง มีความสามารถในการผ่อนชำระแล้ว

 

ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระแต่ละเดือน

     โดยปกติแล้วไฟแนนซ์จะปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้กับผู้ซื้อ ก็ต่อเมื่อรายรับต่อเดือน คิดเป็น 2-2.5 เท่าของยอดผ่อนแต่ละเดือน ยกตัวอย่างเช่น ค่างวดรถ 12,000 บาท ก็ควรมีรายรับต่อเดือนขั้นต่ำ 24,000 - 30,000 บาทนั่นเอง

     แต่ในความเป็นจริงนั้น เราต้องพิจารณาถึงรายจ่ายอื่นๆ ควบคู่กับไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าเสื้อผ้า, ค่าของใช้จุกจิก ฯลฯ ซึ่งเรามีการใช้จ่ายอยู่แล้วในทุกเดือน แถมยังมีค่าใช้จ่ายหลังจากครอบครองรถอีก เช่น

- ค่าบำรุงรักษาตามระยะทุก 10,000 กม. ครั้งละ 1,500 - 4,000 บาท
- ค่าน้ำมัน เดือนละ 3,000 - 5,000 บาท ขึ้นกับการใช้งาน
- ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 ปีละ 12,000 - 18,000 บาท สำหรับรถขนาดเล็ก
- ค่าภาษี และ พ.ร.บ. ปีละ 2,500 บาท โดยประมาณ
- ค่าที่จอดรถ
- ค่าล้างรถ + บำรุงรักษาอื่นๆ

210

ซื้อรถให้เหมาะกับตัวเองและรายได้

     แม้ว่าคุณจะมีรถในฝันที่อยากได้มานานแสนนาน แต่หากรายได้ของคุณไม่เอื้ออำนวย ก็ควรพิจารณาเลือกรถที่มีราคาย่อมเยาลงมา จะช่วยให้ยอดผ่อนต่อเดือนต่ำลง ยกตัวอย่างเช่น

รถยนต์ C-Segment 1.8 ลิตร ราคา 869,000 บาท
ดาวน์ 20% = 173,800 บาท
ยอดผ่อนต่อเดือน = 12,855 บาท x 60 งวด

รถยนต์ B-Segment 1.5 ลิตร ราคา 589,000 บาท
ดาวน์ 20% = 117,800 บาท
ยอดผ่อนต่อเดือน = 8,713 บาท x 60 งวด

     จะเห็นได้ว่าการเลือกรถระดับ B-Segment 1.5 ลิตร จะทำให้ยอดเงินดาวน์ลดลงถึง 56,000 บาท และยอดผ่อนต่อเดือนลดลงถึง 4,142 บาท ซึ่งคิดต่อปีแล้วเท่ากับ 49,704 บาท เลยทีเดียว

200

เตรียมเอกสารให้พร้อม

     สิ่งสำคัญในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของไฟแนนซ์ คือ เอกสารต้องพร้อม และแสดงถึงประวัติการชำระที่ดี ซึ่งเอกสารเหล่านี้ทางเซลส์จะเป็นผู้แจกแจงให้ทราบอยู่แล้วว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง

     แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ ที่ส่งข้อมูลเครดิตให้กับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เนื่องจากไฟแนนซ์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อควบคู่กับหลักฐานทางการเงินอื่นๆ ของคุณด้วย ดังนั้น หากคุณมีแผนจะซื้อรถยนต์คันใหม่ ต้องแน่ใจว่าคุณมีเครดิตที่ดี ไม่ผิดนัดชำระมาก่อนครับ (โดยปกติแล้วเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลเครดิตไว้เป็นเวลา 3 ปี)

     ส่วนข้อมูลการชำระค่าบริการและสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าไฟ, ค่าน้ำ ฯลฯ ไม่มีการส่งข้อมูลให้กับเครดิตบูโรในขณะนี้

     สุดท้ายนี้ หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดติดปากกว่า "ซื้อรถ เท่ากับ ลด" เนื่องจากมูลค่าที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จึงควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการมีรถไว้ด้วยนะครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook