รีวิว Lexus UX250h Grand Luxury 2019 ใหม่ นี่มัน C-HR ในเวอร์ชั่น “ท็อปฟอร์ม”

รีวิว Lexus UX250h Grand Luxury 2019 ใหม่ นี่มัน C-HR ในเวอร์ชั่น “ท็อปฟอร์ม”

รีวิว Lexus UX250h Grand Luxury 2019 ใหม่ นี่มัน C-HR ในเวอร์ชั่น “ท็อปฟอร์ม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     Lexus UX250h 2019 ใหม่ หากดูเผินๆ ก็จะมองว่าเป็นแค่รถครอสโอเวอร์อีกรุ่นตามกระแสตลาด แต่พอได้สัมผัสกันจริงๆ ก็พบว่ามันมีดีพอจะเอาชนะคู่แข่งจากค่ายยุโรปได้อย่างไม่ยากเย็น จะเด็ดขนาดไหนไปติดตามได้ในบทความนี้ครับ

200

     Lexus UX ใหม่ เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ถูกวางให้เป็นรถเอสยูวีรุ่นเล็กสุดในตระกูล X ของเล็กซัส ซึ่งบ้านเราจะมีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย เปิดราคาจำหน่ายตั้งแต่ 2 ล้านบาทกลาง ไปจนถึง 3 ล้านบาทกลาง ประกอบด้วย

  • Lexus UX250h Luxury
  • Lexus UX250h Grand Luxury
  • Lexus UX250h F Sport AWD

     ด้วยระดับราคาดังกล่าวส่งผลให้ Lexus UX กลายเป็นคู่แข่งตรงกับค่ายหรูฝั่งยุโรป ได้แก่ BMW X1, Mercedes-Benz GLA, Volvo XC40 และ Audi Q2 ที่มีเป้าหมายหลักอยู่ในกลุ่มวัยทำงานอายุประมาณ 30 ขึ้นไป มีหน้าที่การงานมั่นคง เป็นเจ้าของรถอยู่แล้วคันหนึ่ง และกำลังมองหารถยนต์หรูในระดับ Entry เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความสำเร็จ

     ซึ่งจุดนี้เอง Lexus UX จึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ “แตกต่าง” จากแบรนด์ฝั่งยุโรปอื่นๆ อันจะเห็นได้จากดีไซน์ที่ดูแปลกตากว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน และยังเป็นรุ่นเดียวในกลุ่มที่ใช้ขุมพลังเบนซินไฮบริด 2.0 ลิตรด้วย

145

     Lexus UX ใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นบนแพล็ตฟอร์ม GA-C ร่วมกับรถยนต์อีกหลายรุ่นในเครือโตโยต้า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Toyota C-HR ที่เรายกย่องให้มันเป็นครอสโอเวอร์ที่ขับดีที่สุดในขณะนี้ แต่ในเวอร์ชั่นของเล็กซัสมีการต่อยอดด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมตัวถัง Laser Screw Welding และเพิ่มจุดเชื่อมให้แน่นหนาเป็นชิ้นเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างมีความแข็งแรงมากกว่า ช่วยเพิ่มไดนามิกในการขับขี่ได้ดีกว่า

     ตัวถังของ Lexus UX มีขนาดใกล้เคียงกับ Toyota C-HR โดยมีความยาวอยู่ที่ 4,495 มม. ความกว้าง 1,840 มม. ความสูง 1,520 มม. ความยาวฐานล้ออยู่ที่ 2,640 มม. ขณะที่ความสูงจากพื้นถนนอยู่ที่ประมาณ 160 มม. สูงกว่ารถเก๋งทั่วไปอยู่เล็กน้อย พอให้ลุยน้ำท่วมได้อย่างสบายใจขึ้นอีกนิดหน่อย

156

     สำหรับรุ่น UX250h Grand Luxury ที่เราทดสอบครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นรุ่นรองท็อป แต่ก็น่าจะเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในบรรดาทั้ง 3 รุ่นย่อย เนื่องจากมีอุปกรณ์ติดรถมากกว่ารุ่น Luxury อยู่พอสมควรแลกกับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นราว 2 แสนบาท แต่ยังถูกกว่ารุ่น F Sport ที่มีค่าตัวกระโดดไปร่วม 1 ล้านบาท ซึ่งราคาระดับนั้นก็พอที่จะขยับไปเล่นรุ่นใหญ่กว่าได้ จึงทำให้รุ่น Grand Luxury ดูน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะที่สุดสำหรับ UX

     UX250h Grand Luxury ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานภายนอก ได้แก่ ไฟหน้าแบบ 3-LED (รุ่น Luxury เป็นแบบ 1-LED) มาพร้อมระบบ Adaptive High Beam System (AHS) ที่สามารถส่องไฟสูงเฉพาะจุดเพื่อป้องกันแสงไฟรบกวนรถคันอื่นได้, ไฟส่องสว่างมุมหน้ารถ (Cornering Light), ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน LED, ไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED และระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า ขณะที่หลังคามูนรูฟจะมีให้เฉพาะรุ่น F Sport เท่านั้น แต่ก็เป็นเพียงมูนรูฟขนาดเล็กสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า ไม่ได้เป็นหลังคาแบบพาโนรามิคแต่อย่างใด

152

     สำหรับประตูท้ายสามารถเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่นย่อย พร้อมกับ Kick sensor ที่สามารถสอดเท้าเข้าไปใต้กันชนเพื่อเปิดประตูท้ายได้อย่างอัตโนมัติ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องพกกุญแจไว้กับตัวเท่านั้น หากกุญแจอยู่ในรถหรือนอกเหนือระยะทำการ จะไม่สามารถเตะเท้าเพื่อเปิดประตูอัตโนมัติได้

     ขณะที่จุดเด่นของ Lexus UX อยู่ที่ไฟท้ายแบบ LED ที่ประกอบด้วยหลอด LED ขนาดเล็กจำนวน 120 หลอดที่จัดเรียงอย่างประณีตบรรจง ลากยาวเป็นเส้นตรงตลอดแนวประตูท้าย ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบเดียวกับรถยุโรปรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นในขณะนี้ ช่วยสร้างความโดดเด่นบนท้องถนนยามค่ำคืนได้เป็นอย่างดี

104

     ล้ออัลลอยของทั้งรุ่น Luxury และ Grand Luxury เป็นแบบ 5 ก้าน ขนาด 17 นิ้ว สีเทา Dark Gray Metallic พร้อมยางขนาด 215/60 R17 ขณะที่รุ่น F Sport จะได้ล้ออัลลอยแบบ 5 ก้านคู่ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/50 R18

103

     ตัวถังของรถทดสอบคันนี้เป็นสีส้ม Blazing Carnelian Contrast Layering ที่เป็นหนึ่งในสีใหม่ของ Lexus มาพร้อมห้องโดยสารโทนสีดำ ติดตั้งเบาะนั่งหุ้มวัสดุหนังปรับไฟฟ้าคู่หน้าได้ 8 ทิศทาง พร้อมปุ่มดันหลังไฟฟ้า 2 ทิศทางฝั่งผู้ขับ ซึ่งแม้ว่าวัสดุหุ้มเบาะจะเป็นหนังสังเคราะห์ แต่ก็ให้ความนุ่มสบายไม่แพ้หนังแท้ อีกทั้งยังมีลวดลายบนตัวเบาะเป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ช่วยให้ห้องโดยสารดูทันสมัยขึ้น

     ตัวเบาะคู่หน้าให้ความกระชับพอเหมาะ นั่งสบาย รองรับแผ่นหลังได้ดี ขณะที่ห้องโดยสารด้านหลังกลับรู้สึกปลอดโปร่งกว่า C-HR อย่างเห็นได้ชัด ด้วยการออกแบบแนวประตูให้มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด ขณะที่พนักพิงเบาะแม้ว่าจะไม่สามารถปรับองศาให้เอนลงได้ แต่ก็นั่งสบาย ไม่ตั้งตรงจนเกินไป และยังคงมีพื้นที่วางขาเหลือพอสมควร

107

     ความกว้างของห้องโดยสารด้านหลังสามารถนั่งได้ 2 คนหลวมๆ ไม่อึดอัด แต่หากเป็นผู้โดยสารผู้ใหญ่ 3 คน ต้องมีคนใดคนหนึ่งยอมเกยไหล่เพื่อให้ทุกคนนั่งพิงหนักได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องโดยสารเต็มคัน 5 คนเป็นประจำก็คงไม่แนะนำนัก

138

     ในรุ่น Grand Luxury ถูกติดตั้งหน้าจออินโฟเทนเม้นท์แบบ EMV – Electro Multi Vision ขนาด 7 นิ้ว สั่งงานผ่านแป้นควบคุมแบบสัมผัส (Remote Touch Interface) แบบเดียวเล็กซัสรุ่นอื่นๆ พร้อมปุ่มช็อตคัทที่ช่วยให้เข้าถึงเมนูต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งการใช้งานแป้นสัมผัสอาจต้องเล่นกันจนชินมือหน่อยจึงจะสามารถเรียกฟังก์ชั่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ (แต่ถึงอย่างไรผู้เขียนก็ยังคงรู้สึกว่าปุ่มหมุนแบบ BMW หรือ Mercedes-Benz สามารถใช้งานได้ง่ายกว่าอยู่ดี)

     หน้าจอ EMV ชุดนี้มีความละเอียดสูง สามารถแสดงผลได้อย่างสวยงาม และรองรับภาษาไทยได้ พร้อมช่องเสียบ USB และรองรับแผ่น DVD ได้ (ซึ่งปัจจุบันคงไม่ค่อยมีใครใช้กันแล้ว) แต่น่าเสียดายที่ระบบนำทางจะมีให้เฉพาะรุ่น F Sport เท่านั้น

110

     นอกจากนี้ บริเวณใต้แผงคอนโซลยังมีแป้นชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สายมาให้ ซึ่งถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ลื่นหล่นเมื่อเข้าโค้งหรือเบรกแรงๆ

     คุณภาพเครื่องเสียงของรุ่น Grand Luxury ถือว่าค่อนข้างดี เน้นไปทางเสียงแหลม แต่ก็มีเบสให้ได้สัมผัสอยู่พอสมควร แม้ว่าจะไม่ดีเท่ากับพวกเครื่องเสียง Co-brand ชั้นนำ แต่ก็ถือว่าเหลือเฟือสำหรับการฟังเพลงให้ได้อรรถรสในขณะขับขี่

114

     บริเวณใกล้กับคันเกียร์เป็นปุ่มเลือกโหมด EV หรือขับขี่ด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต้องมีปริมาณแบตเตอรี่เพียงพอจึงจะสามารถเรียกโหมดดังกล่าวขึ้นมาได้ (เท่าที่ทดสอบควรมีปริมาณแบตเตอรี่มากกว่าครึ่งหนึ่งขึ้นไป) ใกลักันเป็นปุ่ม Auto Brake Hold ช่วยเหยียบเบรกค้างไว้ให้อัตโนมัติขณะติดไฟแดง แต่จะไม่มีปุ่มเบรกมือไฟฟ้าเหมือนกับรถทั่วไป เนื่องจาก Lexus NX จะใส่เบรกมือให้อัตโนมัติทันทีเมื่อเข้าเกียร์ P แล้วปล่อยเบรก และปลดออกให้อัตโนมัติเมื่อขยับคันเกียร์ออกจากตำแหน่ง P เท่าที่ลองใช้งานดูก็พบว่ามันช่วยอำนวยความสะดวกขึ้นเยอะ แถมยังปลอดภัยจากการลืมใส่เบรกมือด้วย

     ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ Dual-zone แยกปรับอุณหภูมิซ้าย-ขวาได้อิสระ มีช่องแอร์ด้านหลังให้ 2 ช่อง และมีระบบ Lexus Climate Concierge ที่จะทำงานควบคู่กับระบบอุ่นเบาะคู่หน้า (ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่จำเป็นสำหรับบ้านเรานัก) ขณะที่ผู้โดยสารตอนหลังจะมีช่อง USB ขนาด 2.1A สำหรับชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วย

106

     ฝั่งผู้ขับขี่ถูกติดตั้งพวงมาลัยพาวเวอร์มัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้าน ปุ่มควบคุมฝั่งซ้ายใช้สำหรับระบบเครื่องเสียงและจอ MID ส่วนฝั่งขวาใช้ควบคุมระบบ Dynamic Radar Cruise Control และระบบเปิด-ปิดการทำงานระบบ Lane Keeping Assist แต่ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยติดตั้งมาให้แต่อย่างใด

     มาตรวัดความเร็วเป็นแบบดิจิตอลขนาด 8 นิ้ว สามารถปรับการแสดงผลได้ 2 แบบ สามารถแสดงความเร็วและมาตรวัดรอบแบบเข็มทั้งคู่ก็ได้ หรือเลือกเป็นแบบมาตรวัดรอบขนาดใหญ่ พร้อมตัวเลขแสดงความเร็วแบบดิจิตอลก็ได้เช่นกัน ส่วนทางซ้ายของกรอบมาตรวัดรอบเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่จิปาถะ รวมถึงแสดงสถานะการทำงานของระบบไฮบริดได้

127

128

     เหนือมาตรวัดยังมีปุ่มขนาดใหญ่ 2 ปุ่ม ยื่นออกมาจากคอนโซล ได้แก่ ปุ่มปรับโหมดการขับขี่ 3 รูปแบบ ได้แก่ Eco, Normal และ Sport โดยที่มาตรวัดความเร็วจะเปลี่ยนสีไปตามโหมดการขับขี่ที่เลือก ส่วนอีกฝั่งเป็นปุ่มปิดการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC

     คุณภาพวัสดุและการประกอบของ Lexus UX ทำได้อย่างดีเยี่ยมแม้ว่าจะเป็นรุ่นเล็กของค่าย วัสดุส่วนใหญ่มีความอ่อนนุ่ม แน่นหนา ให้ความรู้สึกคงทน ให้ผิวสัมผัสที่ดี จนผู้เขียนรู้สึกว่าวัสดุที่ใช้มีคุณภาพดีกว่าบางยี่ห้อจากฝั่งเยอรมนีอยู่นิดๆ ด้วยซ้ำไป

126

     ดังนั้น บรรยากาศโดยรวมของ Lexus UX เมื่อก้าวเข้ามานั่งภายในห้องโดยสาร แม้ว่าจะมีมิติตัวรถใกล้เคียงกับ Toyota C-HR ที่เรารู้สึกว่าทำได้ดีเกินคาดอยู่แล้ว แต่พอกลายเป็น Lexus UX กลับรู้สึกพรีเมียมขึ้นกว่าอย่างชัดเจน มีความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น สัมผัสที่ได้จาก feedback ในการกดปุ่มต่างๆ หรือกระจกหน้าต่างไฟฟ้าที่จะเลื่อนช้าลงเมื่อใกล้ปิดสนิทเพื่อลดเสียงกระแทก เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่แบรนด์เล็กซัสเพื่อเอาชนะแบรนด์หรูเก่าแก่จากฝั่งยุโรปนั่นเอง

122

     ในรุ่น Grand Luxury มาพร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติตามสภาพแสง, ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ แต่น่าเสียดายที่กระจกมองหลังกลับเป็นแบบธรรมดา ไม่ใช่ตัดแสงอัตโนมัติ เนื่องจากรถราคาระดับนี้ควรติดตั้งมาให้เป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานได้แล้ว ขณะที่ชุดไฟหน้ายังมีระบบ Adaptive High Beam System (AHS) มาให้ ทำงานด้วยการตั้งไฟหน้าในโหมด Auto แล้วกดปุ่มบนก้านไฟเลี้ยว เมื่อขับรถในยามค่ำคืน กล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกบังลมหน้าจะคอยจับตำแหน่งรถคันหน้า แล้วดับไฟสูงลงบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้แสงไฟไปกระทบสายตาคนรอบข้างและรถคันที่สวนมา เท่าที่ผู้เขียนลองใช้งานดูก็พบว่าทำงานได้ดี แถมไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่มืดสนิทชนิดที่ไม่มีไฟส่องทางแบบรถยุโรปด้วย

108

     ด้านระบบความปลอดภัยมีการติดตั้ง Lexus Safety System+ ประกอบด้วย 4 ฟังก์ชั่น ได้แก่ Pre-Crash Safety System พร้อมตรวจจับคนเดินถนนและจักรยาน, ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน Dynamic Radar Cruise Control, ระบบช่วยรักษาช่องทางวิ่ง Lane Keeping Assist และระบบไฟสูง-ต่ำอัจฉริยะ Adaptive High Beam System

     ขณะที่รุ่น F Sport จะเพิ่มระบบแจ้งเตือนขณะถอยรถ Rear Cross Traffic Alert, ระบบเตือนมุมอับสายตา Blind Spot Monitor System และกล้องรอบทิศทาง Panoramic View Monitor มาให้ (รุ่น Grand Luxury เป็นกล้องมองหลังอย่างเดียว)

     ส่วนระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้างทั้งหน้าและหลัง, ถุงลมนิรภัยหัวเข่าสำหรับที่นั่งตอนหน้า, ม่านถุงลมนิรภัย, ระบบเบรก ABS/EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA, ระบบควบคุมการทรงตัว VSC, ระบบป้องกันการลื่นไถล TRC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน, เซ็นเซอร์กะระยะรอบคัน PAS, ระบบเตือนแรงดันลมยาง และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นต้น

135

     Lexus UX250h ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินไฮบริดรหัส M20A-FXS ความจุ 2.0 ลิตร VVT-iE ให้กำลังสูงสุด 146 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 180 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400-5,200 รอบต่อนาที และมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 109 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 202 นิวตัน-เมตร ให้กำลังสูงสุดรวมทั้งระบบอยู่ที่ 184 แรงม้า

     ระบบส่งกำลังเป็นแบบอัตโนมัติ E-CVT พร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (FWD) ขณะที่ F Sport จะเป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ Dynamic Torque Control AWD

119

     ระบบไฮบริดของ Lexus UX250h ถูกเรียกว่า Lexus Hybrid Drive ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว ติดตั้งแบตเตอรี่แบบ Nickel-metal Hydride (Ni-MH) เช่นเดียวกับโตโยต้ารุ่นอื่นๆ มีการย้ายชุดแบตเตอรี่ไปติดตั้งไว้ใต้เบาะนั่งด้านหลัง ช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้าย พร้อมทั้งปรับปรุงให้มีความต่อเนื่องในการตัดต่อกำลังระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ได้ดียิ่งขึ้น

     ทั้งนี้ เล็กซัสเคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ไว้ที่ 8.5 วินาที และอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 23.8 กม./ลิตร (หากเป็นรุ่น F Sport ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน AWD จะลดลงมาเหลือ 20.8 กม./ลิตร)

     ช่วงล่างด้านหน้าของ Lexus UX250h เป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบดับเบิ้ลวิชโบน พร้อมระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ (ด้านหน้าแบบมีช่องระบายอากาศ)

149

     ในช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง Lexus UX250h จะใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าก่อน จากนั้นเครื่องยนต์จึงจะเริ่มทำงานและช่วยส่งกำลังให้รถพุ่งไปข้างหน้าได้อย่างทันใจ ซึ่งอัตราเร่งของ UX250h จะให้ความรู้สึกถึงแรงดึงที่มากกว่า C-HR อยู่พอประมาณ อันเป็นผลจากการติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า

     การตัดต่อกำลังระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์เบนซินทำได้เนียนกริบไร้รอยต่อ หากไม่เหลือบมามองมาตรวัดรอบแทบจะไม่มีทางรู้เลยว่าเครื่องยนต์ได้เริ่มทำงานแล้ว

     การขับขี่ด้วยความเร็วสูงประมาณ 100-110 กม./ชม. จะมีการสลับการทำงานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการทำงานปกติของเครื่องยนต์ไฮบริดเพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง เมื่อปล่อยคันเร่งเครื่องยนต์จะดับลงทันที แล้วปล่อยให้แรงเฉื่อยของตัวรถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อเก็บไว้ในแบตเตอรี่

167

     การทรงตัวของรถที่ความเร็วประมาณ 110 กม./ชม. มีลักษณะใกล้เคียงกับ C-HR คือ มีอาการโคลงตัวน้อยแม้ว่าจะมีส่วนสูงกว่ารถเก๋งปกติ แต่ช่วงล่างให้ความรู้สึกหนักแน่นมากกว่า ประกอบกับน้ำหนักพวงมาลัยที่เซ็ตมากำลังดี มีความหนืดให้ได้สัมผัสพอประมาณ ไม่ไวจนเกินไป สามารถขับมือเดียวที่ความเร็วระดับนั้นได้อย่างผ่อนคลาย

     ช่วงล่างของ UX250h Grand Luxury ที่ใช้ล้อขนาด 17 นิ้ว และยางขนาด 215/60 มีการซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนนค่อนข้างดี นุ่มนวลและหนักแน่น ต่างจากช่วงล่างของ Mercedes-Benz GLA250 ตัว AMG ที่เซ็ตมาแข็งกว่านี้ เหมือนเป็นการจับเอา C-HR ที่มีช่วงล่างที่ดีอยู่แล้วมาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

101

102

     ขณะที่การเก็บเสียงจากพื้นถนนทำได้ดี รวมถึงเสียงที่เกิดขึ้นจากการขับผ่านหลุมหรือฝาท่ออยู่ในระดับต่ำ ไม่น่ารำคาญใจแต่อย่างใด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเสียงลมที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้างจะเริ่มได้ยินตั้งแต่ความเร็ว 90 กม./ชม. ขึ้นไปและจะค่อยๆ ดังขึ้น หากใช้ความเร็วเดินทางประมาณ 120 กม./ชม. จะได้ยินเสียงลมด้านข้างเข้ามาในห้องโดยสารพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยสำหรับรถที่ใส่ใจดีเทลการออกแบบภายนอกจัดๆ แบบเล็กซัสคันนี้

     ฟีลลิ่งแป้นเบรกเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่โตโยต้าและเล็กซัสภูมิใจนำเสนอในรถที่ติดตั้งเครื่องยนต์ไฮบริดเจเนอเรชั่นที่ 4 เนื่องจากมีปรับการตอบสนองได้เรียบเนียนมากขึ้น ระยะฟรีของแป้นเบรกให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับรถยุโรป คือ ต้องเหยียบลงไปลึกหน่อย แต่เมื่อผ้าเบรกจับกับจานเบรกแล้ว ก็สามารถหยุดรถได้อย่างนุ่มนวลตามใจสั่ง

165

     สรุป Lexus UX250h Grand Luxury เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถครอสโอเวอร์ระดับหรู แต่ยังต้องการความฉีกแนวไปจากแบรนด์ยุโรปอื่นๆ และยังเป็นเพียงหนึ่งเดียวในตลาดที่ติดตั้งเครื่องยนต์แบบไฮบริด ให้ความประหยัดไม่น้อยหน้าดีเซล แถมยังขับด้วยโหมดไฟฟ้าได้พอหอมปากหอมคอ เช่น เวลาที่ขับรถเข้าหมู่บ้านแล้วต้องการความเงียบเป็นพิเศษ ขณะที่ฟังก์ชั่นการใช้งานก็มีดีไม่แพ้รถยุโรป บวกกับชื่อเสียงเรื่องความทนทานของแบรนด์เล็กซัสที่การันตีโดยโตโยต้าอยู่แล้ว รถคันนี้ถือว่าน่าสนใจไม่เบาทีเดียวครับ

 

ราคาจำหน่าย Lexus UX250h 2019 ใหม่ มีดังนี้

  • Lexus UX250h Luxury ราคา 2,490,000 บาท
  • Lexus UX250h Grand Luxury ราคา 2,690,000 บาท (รุ่นที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้)
  • Lexus UX250h F Sport AWD ราคา 3,620,000 บาท

 

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดสอบในครั้งนี้

 

อัลบั้มภาพ 49 ภาพ

อัลบั้มภาพ 49 ภาพ ของ รีวิว Lexus UX250h Grand Luxury 2019 ใหม่ นี่มัน C-HR ในเวอร์ชั่น “ท็อปฟอร์ม”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook